ปัญหา "เอกลักษณ์ทางเพศ" แก้ได้หรือไม่?
ผศ.นพ.พนม เกตุมาน
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ถ้าบุตรหลานในครอบครัวมีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ การช่วยเหลือแต่เบื้องต้นเป็น สิ่งสำคัญมาก
เอกลักษณ์ทางเพศที่ผิดปกติ หรือกลุ่มเพศที่ 3 นั้น มีลักษณะการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับเพศของตัวเอง อาจเกิดจากการเลี้ยงดู หรือปัจจัยทางร่างกาย หรือทั้งสองประการ
ปัจจัยทางกาย อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนเพศของแม่ผิดปกติในขณะตั้งครรภ์ หรือเด็กมีอวัยวะเพศกำกวมตั้งแต่แรกเกิด ทำให้เลี้ยงเด็กผิดเพศ นอกจากนี้การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมหรือผิดเพศ เช่น เด็กผู้ชายที่ห่างเหินจากพ่อ ใกล้ชิดแม่ หรือส่งเสริมให้มีกิจกรรมหรือพฤติกรรมเพศหญิงมากเกินไป อาจทำให้เด็กผู้ชายมีพฤติกรรมผิดเพศได้ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น การแสดงออกจะมากขึ้นทั้งกิริยาท่าทาง คำพูด การแต่งกายและกิจกรรมต่างๆ บางคนอาจรังเกียจอวัยวะเพศตนเอง จนอยากกำจัดอวัยวะเพศทิ้งไป หรือผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งการแก้ไขให้วัยรุ่นที่มีเอกลักษณ์ทางเพศผิดปกติกลับมาเป็นปกตินั้นทำได้ยาก
วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ คือ “การป้องกัน” โดยบุคคลในครอบครัวควรมีส่วนช่วยด้วยคือ ต้องเลี้ยงเด็กให้เหมาะสมกับเพศของเขา โดยเฉพาะในช่วงอายุ 3- 6 ปี พ่อควรใกล้ชิดเด็กผู้ชาย แม่ใกล้ชิดเด็กผู้หญิง รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมตามเพศ และเมื่อเด็กอายุ 6 - 12 ปี ควรให้ใกล้ชิดเด็กเพศเดียวกันเอง และไม่ส่งเสริมให้แสดงออกผิดเพศใดๆ จนถึงวัยรุ่น ส่วนในกรณีที่มีสาเหตุจากโรคทาง กาย การรักษาโรคตั้งแต่เล็ก ๆ จะเป็นการป้องกันอีกวิธีหนึ่ง
นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามความสำคัญคือ การมาพบกับจิตแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแล้วรู้สึกอึดอัด ปรับตัวไม่ได้ มีปัญหาในครอบครัว การมาพบจิตแพทย์เพื่อปรับแนวความคิด ความรู้สึก และการดำเนินชีวิต จะช่วยให้ทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ครับ
ขอบคุณเนื้อหาจาก www.si.mahidol.ac.th คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto