อาการของโรคมือเท้าปาก และวิธีดูแลเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก

อาการของโรคมือเท้าปาก และวิธีดูแลเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก

อาการของโรคมือเท้าปาก และวิธีดูแลเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคมือเท้าปาก และ โรคจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 นับเป็นโรคที่ระบาดในเด็กโรคหนึ่ง ที่พบทุกปี โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มเข้าหน้าฝนเป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของโรคนี้สูง เพราะฉะนั้น เรามาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะ 

โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ซึ่งมีหลายตัวที่ทำให้เกิดได้ โดยเชื้อที่รุนแรงที่สุด คือ เอนเตอโรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี71 ที่มีการระบาดรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านของเราก็เป็นเชื้ออีวี 71 นี่เอง ประเทศไทยเราก็พบเชื้ออีวี71 ร่วมกับเอนเตอโรไวรัสตัวอื่นๆด้วย  แต่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยรุนแรง

อาการของโรคมือเท้าปาก

  • เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปากมักเริ่มด้วยอาการไข้
  • เจ็บปาก
  • กินอะไรไม่ค่อยได้ น้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน
  • และมีผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขาได้
  • ผู้ป่วยมักมีอาการมากอยู่ 2-3 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก แต่บางรายมีอาการมากจนกินอาหารและน้ำไม่ได้

โดยปกติโรคนี้ไม่น่ากลัว และหายเองโดยไม่มีปัญหา แต่อาจมีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือพบปัญหาแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้ออีวี 71 จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากขึ้น

ปัญหาแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดคือ ก้านสมองอักเสบ ทำให้เกิดภาวะหายใจและระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ซึ่งถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งเชื้ออีวี 71 อาจทำให้เกิดสมองอักเสบรุนแรงได้ โดยไม่ต้องมีผื่นแบบ มือ-เท้า-ปากได้ เด็กที่จะมีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงหรือสมองอักเสบ จะมีสัญญาณอันตรายได้แก่ ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน การระบาดของโรคมือ-เท้า-ปาก ในประเทศไทยในขณะนี้แม้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดอาการไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ดีต้องระวังอาการรุนแรงไว้ด้วย แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยก็ตาม

ข้อสังเกตเบื้องต้นอาการของเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก

  • มีไข้เฉียบพลัน
  • มีอาการปวดหัว , ปวดท้อง , เมื่อตามเนื้อตามตัว
  • มีอาการเจ็บคอ , รู้สึกเบื่ออาหาร ซึ่งเด็กจะไม่ยอมทานอะไรเลยเนื่องจากเจ็บแผลที่อยู่ในปาก
  • เด็กจะมีน้ำลายเหนียวและไหลยืดมากผิดปกติอยู่ตลอดเวลา

เมื่อผ่านไป 2 วัน ให้สังเกตอาการโรคมือเท้าปากของเด็กให้ดี เพราะในระยะนี้เพดานปากของเด็กจะเกิดเป็นแผล ทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ ร้องไห้ งอแงอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นประมาณ 2 วันก็จะมีตุ่มใสขึ้นตามมือ เท้า ลำตัว และก้นเด็ก ซึ่งในช่วงที่เด็กไม่สามารถทานอะไรได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยป้อนน้ำเด็กให้บ่อยที่สุด เนื่องจากเกรงว่าเด็กอาจจะมีอาการขาดน้ำจากการที่ไม่ยอมกินน้ำนั่นเอง

ข้อสังเกตุหากเด็กมีอาการเหล่านี้ อาจจะเป็นโรคมือเท้าปากได้

ในการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปากนั้น มักจะวินิจฉันได้จากลักษณะอาการของโรคที่แสดงออกมาและการตรวจผู้ป่วยดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยมีไข้สูง 38 - 39 องศาเซลเซียส
  • พบจุดนูนแดง ตุ่มน้ำใส หรือแผลที่เยื่อบุปาก ลิ้น และเหงือก
  • พบจุดแดงราบ ตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำที่มือ เท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และแก้มก้น
  • ในผู้ป่วยรายที่มีอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง แพทย์อาจจะทำการตรวจเชื้อไวรัสจากสิ่งคัดหลั่งที่บริเวณคอหอย อุจจาระ หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำบนผิวหนังเพิ่มเติม เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อในกลุ่มนี้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องจากว่าการตรวจในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย อีกทั้งยังมีราคาแพง และในบางสถานการณ์ก็ไม่สามารถทำได้อันเป็นเหตุมาจากอุปสรรคทางเทคนิคต่างๆ อาทิ การตรวจหายีนของไวรัสด้วยวิธี Polymerase chain reaction (PCR) ที่จะใช้เวลาในการตรวจและรายงานผลที่ได้ประมาณ 1 - 3 วัน , การตรวจด้วยการเพาะเชื้อไวรัส (Virus culture) ใช้เวลาในการตรวจและรายงานผลที่ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจที่จะให้ผลได้เร็วภายใน 1 - 2 ชั่วโมง

เพิ่มเติม สำหรับลักษณะของโรคมือเท้าปาก จะมีอาการคล้ายกับโรคอื่นๆ จึงอาจทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคอื่นไม่ใช่โรคมือเท้าปาก อาทิ โรคไข้รูมาติก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นไข้ เกิดผื่นแดง, โรคเฮอร์แปงใจน่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังและเป็นตุ่มน้ำในปาก, เริม, อีสุกอีใส, แผลร้อนใน หรือแผลพุพอง เป็นต้น

แนวทางการรักษา

โรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยวิกฤต

การติดต่อของโรคมือเท้าปาก

โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก

วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก

  • ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก 

  • การป้องกันที่สำคัญคือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคมิให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น เด็กทุกคนรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หมั่นทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป แล้วทำให้แห้ง

    ควรระมัดระวังในความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของทุกๆ อย่างที่เด็กอาจเอาเข้าปาก ไม่ให้เด็กใช้ของเล่นที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย หรืออุปกรณ์การรับประทานร่วมกัน ควรสอนให้เด็กๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร

เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โรงเรียนไม่ควรรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายดี ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ไม่ควรพาไปโรงเรียน หากพบว่าเป็นโรคนี้ควรให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และ เมื่อหายป่วยแล้ว เด็กที่เป็นโรคนี้ยังมีเชื้ออยู่ในอุจจาระได้ นานหลายสัปดาห์ ดังนั้นเมื่อเด็กหายป่วยแล้ว ยังต้องมีการระวังการปนเปื้อนของอุจจาระต่ออีกนาน ควรเน้นการล้างมือหลังเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม และก่อนรับประทานอาหารแก่เด็กและผู้ใหญ่ทุกคน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เพราะแอลกอฮอลล์เจลจะฆ่าเชื้อเอนเตอโรไวรัสไม่ได้

ในช่วงที่มีการระบาด ไม่ควรนำเด็กไปในที่ที่มีเด็กอื่นอยู่รวมกันจำนวนมาก เพราะจะมีโอกาสรับเชื้อได้เนื่องจากมีเด็กที่เป็นโรคนี้และแพร่เชื้อได้โดยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ที่อาจไปอยู่รวมกัน

การป้องกันการระบาดในสถานรับดูแลเด็กหรือโรงเรียนชั้นอนุบาล

  1. มีการตรวจคัดกรองเด็กป่วย ได้แก่ เด็กที่มีไข้ หรือเด็กที่มีผื่น หรือมีแผลในปาก ไม่ให้เข้าเรียน ทั้งนี้เพราะมีผู้ป่วยบางคนที่มีอาการน้อยมาก หรือมีบางคนที่มีอาการไข้แต่ไม่มีผื่น ควรต้องจัดหาเครื่องมือวัดอุณหภูมิ (ปรอท) ไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กจะมีไข้ และมีครูหรือพยาบาลตรวจรับเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน

  2. ควรมีมาตรการในการทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน หรือเมื่อมีการเปื้อนน้ำลาย น้ำมูกหรือสิ่งสกปรก

  3. มีมาตรการเคร่งครัดในการล้างมือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ดูแลสัมผัสเด็กเล็ก โดยเฉพาะในทุกครั้งที่อาจสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ การใช้แอลกอฮอลล์เจลล้างมือ ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้

  4. หากมีการระบาดเกิดขึ้นหลายราย ควรพิจารณาปิดชั้นเรียนนั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือหากมีการระบาดเกิดขึ้นในหลายชั้นเรียน ควรปิดโรงเรียนด้วย เพื่อหยุดการระบาด

การดูแลเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก

ต้องบอกเลยว่าโรคมือเท้าปากที่เกิดขึ้นนั้น การรักษาความสะอาดร่างกายของเด็กก็มีส่วนที่จะไม่ทำให้แผลเกิดการลุกลามได้ง่าย รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำจิตใจให้เข้มแข็งมากๆ ที่จะดูแลเขา หากเด็กมีไข้ก็ให้เช็ดตัว หรือกินยาลดไข้เข้าไปเพื่อบรรเทา สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดอย่างหนึ่งเมื่อเด็กเป็นโรคนี้ คือ เขาจะไม่ยอมกินอะไรเพราะเจ็บแผลในปาก ฉะนั้น ก่อนการรับประทานอาหาร ให้คุณแม่ใช้ยาชาที่คุณหมอให้เมื่อครั้งที่ไปตรวจมาทาที่บริเวณแผลในปากของเด็กก่อนที่จะกินอาหาร หรือเน้นให้เด็กกินอาหารที่เป็นของเหลวและต้องมีความเย็น อาทิ นมแช่เย็น, น้ำเต้าหู้ที่ไม่ร้อน, น้ำหวาน, ไอศกรีม, เจลลี่, ผลไม้, เต้าฮวยนมสด, เกลือแร่ รวมถึงเน้นให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดอาการขาดน้ำ หากเด็กไม่สามารถกินอะไรได้เลยก็ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อให้น้ำเกลือโดยด่วน

ในกรณีที่เด็กมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคมือเท้าปาก คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้เด็กหยุดเรียนก่อนเพื่อดูอาการของโรค และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายได้หากพบว่าเป็น ซึ่งโดยปกติแล้วโรคมือเท้าปากจะไม่มีความรุนแรงมากนักและจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเด็กมีอาการมีอาการซึม หรืออาเจียนมากต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและดูอาการ เนื่องจากอาจจะมีอาการของสมองอักเสบเข้ามาร่วมด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ 
Faculty of Medicine Siriraj Hospita
คณะแพทยศาตร์ศิริราชพยาบาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook