"ปัสสาวะเล็ด" ปัญหากวนใจ...ที่แก้ได้
คุยกับหมอพิณ "ปัสสาวะเล็ด" ปัญหากวนใจ...ที่แก้ได้
คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ
โดย พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
email:doctorpin111@gmail.com
อีกหนึ่งปัญหาของคุณผู้หญิงที่พบได้บ่อย แต่ไม่ค่อยมาพบแพทย์ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือน่าอับอาย ได้แก่ "ปัสสาวะเล็ดและกลั้นไม่อยู่" ค่ะ
บางคนเล็ดแค่นิดหน่อยพอเป็นดวง ๆ ติดกางเกงในให้รำคาญ
บางคนรุนแรงถึงกับต้องใส่ผ้าอนามัยทุกวัน จนอวัยวะเพศอับชื้น คัน มีกลิ่น
หลายคนที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นไม่อยู่หนัก ๆ เข้า จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก
บางคนถึงกับสูญเสียความมั่นใจไม่กล้าออกจากบ้าน เพราะกลัวหาห้องน้ำไม่ทัน กลัวจะราดก่อนถึงที่หมาย ซึ่งกรณีที่เป็นหนักขนาดนี้ควรพบแพทย์นะคะ
สำหรับคนที่ปัสสาวะยังเล็ดราดไม่มาก ยังไม่ถึงกับหัวเราะคิกคักเบา ๆ แล้วเล็ดราดออกมา
วันนี้หมอมีวิธีดูแลด้วยตัวเองมานำเสนอค่ะ แค่ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันเล็กน้อย ไม่ใช่ให้กลั้นหัวเราะ หรือให้ใส่แพมเพิร์สไปดูพี่มากพระโขนงนะคะ อันนั้นก็คงลำบากไปหน่อย
การปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันไม่ได้ยากลำบากอย่างที่คิดค่ะ
ได้แก่ การลดปัจจัย "เสี่ยง" ของการเกิดปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นลำบากค่ะ
เสี่ยงแรกได้แก่ เรื่องอ้วนค่ะ อ้วนนี่นอกจากจะหาเสื้อผ้าใส่ยากแล้วยังอยู่ยากอีกนะคะ รวมทั้งปัญหาปัสสาวะเล็ดราดด้วยค่ะ เพราะหลายโรคทีเดียวที่มาเป็นแพ็กเกจพร้อมกับความอ้วน
มีงานวิจัยบอกว่า ผู้หญิงที่ BMI เกิน 30 (ทุกท่านกดเครื่องคิดเลขตามนะคะ เอาน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร เช่น คุณสูง 160 ซม. = 1.6 หาร 2 ทีค่ะ ...ได้ผลรึยังคะ... เกิน 30 รึเปล่า)
เพราะถ้าเกิน คุณมีโอกาสกลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือปัสสาวะเล็ดมากกว่าคนที่น้ำหนักปกติถึง 2 เท่าค่ะ
ผู้หญิงที่สามารถลดน้ำหนักได้อย่างน้อย 5% จะทำให้มีอาการดีขึ้นกว่า 50% เช่น ตอนนี้คุณหนัก 80 กิโลกรัม ลดแค่ 4 กิโลกรัม นอกจากจะฟิตแอนด์เฟิร์มแล้ว ปัญหาเรื่องปัสสาวะเล็ดก็จะลดลงด้วยค่ะ ดังนั้นท่องไว้นะคะ "ตามใจปาก ลำบากหูรูด" ค่ะ
เสี่ยงที่สอง ได้แก่ "บุหรี่" ค่ะ นอกจากจะหน้าแก่ ปอดพัง รังไข่เสื่อม
การสูบบุหรี่ยังทำให้มีปัญหาปัสสาวะเล็ดราดด้วย
ดังนั้นสาวอมควันทั้งหลาย ได้เวลาลด ละ เลิกแล้วนะคะ
เสี่ยงที่สาม "เครื่องดื่มกาเฟอีน" เช่น ชา กาแฟ สาวออฟฟิศทั้งหลายที่คิดว่า กาแฟไม่มา หนังตาไม่เปิด ได้เวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วนะคะ คนที่ดื่มชากาแฟเป็นประจำ หากลดปริมาณที่ดื่มลงจะทำให้อาการปัสสาวะเล็ดดีขึ้นค่ะ
เสี่ยงที่สี่ "อาหาร" อาหารที่ไขมันสูง และเครื่องดื่มกลุ่มคาร์บอเนต ได้แก่ โซดา น้ำอัดลม ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
เสี่ยงที่ห้า ภาวะท้องผูก ไอเรื้อรัง เพราะการเพิ่มความดันในช่องท้องเป็นประจำ นอกจากจะทำให้ช่วงล่างหย่อนยานแล้ว ปัสสาวะยังเล็ดราดได้อีก ดังนั้นถ้ามีโรค เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ไอเรื้อรัง การรักษา "โรคเดิม" จะทำให้ "โรคใหม่" ดีขึ้นด้วยนะคะ
ทีนี้มาถึงสิ่งที่ "ควร" ทำนะคะ
การทานอาหารจำพวก ผัก ขนมปัง ไก่ เป็นประจำ จะช่วยทำให้อาการปัสสาวะเล็ดลดลงได้ค่ะ การไม่เครียด ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป จะทำให้อาการดีขึ้นเช่นกัน
สุดท้ายหมอมีท่านั่งที่จะช่วยคุณผู้หญิงทั้งหลายรับมือกับภาวะปัสสาวะเล็ด นั่นคือ "การนั่งไขว่ห้าง" ค่ะ
ถ้าปรับเปลี่ยนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์นะคะ
สวัสดีค่ะ
ขอบพระคุณ พ.ญ.มาลีชาติ ศรีพิพัฒนะกุล สำหรับข้อมูลเรื่องเล็ด ๆ ค่ะ