ผิวหนังอักเสบจาก "แมลงก้นกระดก"

ผิวหนังอักเสบจาก "แมลงก้นกระดก"

ผิวหนังอักเสบจาก "แมลงก้นกระดก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผศ.พญ.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

คงเป็นที่แตกตื่นกันพอสมควรเมื่อมีการให้สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งถึงอาการผื่นไหม้ที่บริเวณใบหน้าของแอร์โฮสเตสสาวท่านหนึ่ง โดยสาเหตุที่สงสัยว่าจะเกิดจากการสัมผัสกับแมลงชนิดหนึ่งที่ผู้ดำเนินรายการขอเรียกว่า แมลงน้ำกรด”  ซึ่งบางท่านอาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักในนามว่า แมลงก้นกระดก ด้วงก้นกระดก หรือ แมลงเฟรชชี่ นั่นเอง



แมลงก้นกระดกหรือด้วงก้นกระดก 

 

ภาวะที่เกิดขึ้นนี้มีชื่อว่า ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก หรือ Paederus dermatitis ซึ่งเป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการสัมผัสโดนสารชนิดหนึ่งจากตัวแมลงที่มีชื่อว่า ด้วงก้นกระดก หรือ ด้วงปีกสั้น หรือ ด้วงก้นงอน  (Rove Beetle, ชื่อวิทยาศาสตร์: Paederus fuscipes ) เป็นแมลงขนาดเล็กประมาณ 7-8 มม. ส่วนหัวมีสีดำ ปีกน้ำเงินเข้มขนาดเล็ก และส่วนท้องมีสีส้ม แมลงชนิดนี้มักจะงอส่วนท้ายเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงมักเรียกว่า "ด้วงก้นกระดก" แมลงชนิดนี้จัดอยู่ใน Genus Paederus  , Family  Staphylinidae, Order Coleoptera  โดยพบกระจายทั่วโลก มากกว่า 600 สปีชี่ส์  โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น โดยมักอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน

 

แมลงชนิดนี้สามารถปล่อยสารที่เรียกว่า Pederin  ออกมา โดยสารชนิดนี้ก่อให้เกิดความระคายเคืองกับผิวหนังมาก ทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสโดน และจะมีอาการแสบร้อนหรือ คันได้เล็กน้อยโดยไม่ได้ก่อให้เกิดอาการปวดแสบรุนแรงแต่อย่างใด และมีการอักเสบของผิวหนังได้โดยความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณความมากน้อยหรือความเข้มข้นของสาร Pederin ที่สัมผัสโดน  อาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว โดยลักษณะที่เกิดเป็นทางยาวเพราะเกิดจากการปัดด้วยมือ หรือบางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน (kissing lesion) ร่วมกับตุ่มน้ำพองและตุ่มหนองใน 2-3 วัน โดยผื่นตุ่มน้ำตามบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน


ผื่นแดงขอบเขตชัดเจนและรอยแผลลักษณะเป็นทางยาว

 


เกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน

 

มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูสวัดได้แต่แตกต่างจากผื่นงูสวัดคือผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก จะไม่มีอาการปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทที่ตำแหน่งที่เกิดผื่นเหมือนเช่นในงูสวัด  ผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดกนี้ในเวลาต่อมาผื่นหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายได้เองได้ภายใน 7 - 10 วัน หายแล้วอาจจะทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง ได้แต่มักไม่เกิดเป็นแผลเป็นนอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิมทำให้ผื่นหายช้าลงและอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้วได้  สำหรับในรายที่ผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้

 

หากสัมผัสถูกตัวของ “แมลงก้นกระดก” แล้ว ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วันไม่จำเป็นต้องทายาใด แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี  โดยการรักษาผื่นก็คือการให้ครีมสเตียรอยด์ทาในผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้างหรือแผลไหม้ควรทำการประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ5-10 นาที วันละ  3-4 ครั้งจนแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและการรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางราย

 

คำแนะนำในการป้องกัน “แมลงก้นกระดก” ก็คือ ไม่ควรจับตัวแมลงมาเล่น ควรหลีกเลี่ยงการปัดหรือบีบตัวแมลงที่มาเกาะตามตัว ควรใช้วิธีเป่าแมลงให้หลุดออกไปเองโดยไม่ต้องจับโดนตัวแมลง ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ก่อน เพื่อป้องกัน รวมทั้ง ควรปิดประตูตู้เสื้อผ้า ประตูและหน้าต่างห้องนอนให้มิดชิดทั้งกลางวันและกลางคืน ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะ “แมลงก้นกระดก” มักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้าน

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook