มะเร็งลำไส้ แนะวิธีดูแลตัวเอง ห่างไกลโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แนะวิธีดูแลตัวเอง ห่างไกลโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แนะวิธีดูแลตัวเอง ห่างไกลโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการแพทย์เผยคนไทยป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อันดับต้น ๆ ระยะแรกไม่แสดงอาการ แนะทานผัก ผลไม้เมล็ดธัญพืช เลี่ยงเนื้อสัตว์และอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายประจำทำจิตใจให้แจ่มใสจะห่างไกลจากโรคได้

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ลำไส้ใหญ่เป็นส่วนล่างของระบบทางเดินอาหารติดต่อโดยตรงกับลำไส้เล็กและส่วนปลายสุดคือทวารหนัก มะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้ทั้งชายและหญิงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะวัยกลางคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยรวมกันทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ ด้านพฤติกรรมการทานอาหาร เช่น ทานเนื้อสัตว์มาก ทานอาหารที่มีไขมันสูง และทานผักผลไม้ที่มีกากใยน้อยเป็นประจำ เป็นต้น และด้านพันธุกรรม เช่น โรคบางอย่างของลำไส้ใหญ่ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมหรือติ่งเนื้องอกในลำไส้บางชนิดที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ หรืออาจมีแค่อาการปวดท้อง แน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะอาหาร และเมื่อเป็นในระยะที่มากขึ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงนิสัยในการขับถ่ายอุจจาระทั้งจำนวนครั้งและลักษณะของอุจจาระที่ออกมา มีเลือดและมูกออกทางทวารหนัก ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ซีด หรือโลหิตจาง โดยไม่ทราบสาเหตุ คลำก้อนได้บริเวณท้อง และมีการอุดตันของลำไส้ใหญ่ หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง การตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมีความสำคัญมากเพราะจะทำให้เพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดได้ สำหรับการตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้ด้วยการตรวจเลือดในอุจจาระ การตรวจลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งแบเรียมเข้าไปทางทวารหนักและการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

"โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึงแม้จะเป็นกันมากแต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ทานผักผลไม้เป็นประจำ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ส่วนที่ไหม้เกรียมจากการปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน ลดอาหารไขมันสูง ควบคุมการขับถ่ายให้เป็นเวลา ส่วนผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือมีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับทวารหนักและลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง เนื้องอก หรือมีบิดา มารดา ญาติพี่น้อง เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรตรวจลำไส้และทวารหนักอย่างน้อยปีละครั้ง" อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักควรเริ่มตั้งแต่เด็กโดยผู้ปกครองควรปลูกฝังให้เด็กทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ปลาทะเล ผักผลไม้เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ธัญพืชประเภทข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด ลูกเดือย ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อยที่สุดจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงทานของทอด มัน เค็ม หวาน ปิ้ง ย่าง หมักดอง รวมถึงอาหารที่ถนอมด้วยเกลือและดินประสิว ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ออกกำลังกายเป็นประจำทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด ก็จะทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรวมถึงโรคต่างๆ ได้อีกด้วย

ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นที่ 0 (Stage 0) - มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะนี้มักจะเรียนกันว่า ระยะก่อนมะเร็ง เป็นระยะที่จะพบมะเร็งได้ที่ผนังด้านนอกสุดของผนังลำไส้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นที่ 1 (Stage 1) - ในระยะนี้จะพบมะเร็งที่เยื่อบุชั้นที่ 2 และ 3 ของลำไส้ใหญ่ แต่จะไม่พบมะเร็งที่ผนังด้านนนอกของลำไส้ใหญ่ หรือพบมากไปกว่านั้น ซึ่งในขั้นนี้จะมีชื่อเรียกว่า ดุ๊กเอ (Dukes’ A)

มะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นที่ 2 (Stage 2) - ในระยะนี้มะเร็งจะเริ่มแพร่กระจายไปที่ผนังลำไส้ใหญ่ แต่จะไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นต่อมเล็กๆ ที่จะช่วยต่อสู้การติดเชื้อและโรค ในขั้นนี้มีชื่อเรียกว่า ดุ๊กบี (Dukes’ B)

มะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นที่ 3 (Stage 3) - ในระยะนี้มะเร็งจะเริ่มแพร่กระจายไปที่ผนังลำไส้ใหญ่และต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งในขึ้นนี้จะมีชื่อเรียกว่า ดุ๊กซี (Dukes’ C)

มะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นที่ 4 (Stage 4) - ในระยะสุดท้ายนี้ มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ , ปอด ในขั้นนี้จะมีชื่อเรียกว่า ดุ๊กดี (Dukes’ D)

อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในระยะแรกเมื่อเข้าสู่การเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการต่างๆ ให้เห็นอย่างชัดเจน อาทิ อาการเลือดออกทางทวารหนัก , อุจจาระปนเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด , อุจจาระมีรูปร่างเปลี่ยนไป (เป็นเส้นเล็กลง) , ปวดเกร็งในท้อง

ในทางตรงกันข้าม มะเร็งลำไส้ตรงส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการให้เห็นมากกว่าการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการที่ว่านั้น คือ อุจจาระปนเลือด , ท้องผูกสลับกับท้องเดินอย่างไม่มีสาเหตุ , ขนาดของเส้นอุจจาระเปลี่ยนไป หรือปวดเบ่ง ซึ่งเป็นลักษณะอาการที่ปวดถ่ายในขณะที่ไม่มีอุจจาระ หรือไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้ หากว่าก้อนของอุจจาระมีขนาดใหญ่ขึ้นก็อาจจะไปเบียดอวัยวะข้างเคียง ทำให้เกิดการกลั้นปัสสาวะไว้ไม่อยู่ หรือปวด เนื่องจากมีการกดทับที่ก้น หรือฝีเย็บ

4 สัญญาณรู้ทันมะเร็งลำไส้ใหญ่

สัญญาณที่ 1

มีอาการปวดท้องเป็นพักๆ ในลักษณะที่เป็นการปวดสลับกับหายปวดตามจังหวะของลำไส้ที่มีการบีบตัวตามปกติ มีสาเหตุมาจากอุจจาระจะผ่านตำแหน่งของลำไส้ที่มีเนื้องอกได้ยากกว่าเดิม ทำให้มีอาการปวดเป็นพักๆ เมื่อก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น อุจจาระก็จะยิ่งผ่านบริเวณนั้นได้ลำบากมากขึ้น อาการปวดก็จะค่อยๆ รุนแรงและมีการปวดบ่อยขึ้น

สัญญาณที่ 2

มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย ซึ่งนอกจากอาการปวดที่ได้บอกไปแล้วนั้น การขับถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติไปจากเดิมจะทำให้มีอาการท้องผูกต่อเนื่องหลายวัน สลับกับการถ่ายอุจจาระเหลวในลักษณะที่มีมูกปนมา โดยอาการเช่นนี้อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ แต่อาการที่ชี้ให้เห็นว่าเราอาจเป็นมะเร็งลำไส้นั้น ไม่ได้มีแค่อาการท้องเสียเพียงอย่างเดียว แต่ยังสลับกับอาการท้องผูก ถ่ายลำบาก เนื่องมาจากช่องว่างของลำไส้ใหญ่ที่แคบลงจากก้อนเนื้อที่เกิดขึ้น ส่วนการเกิดมูกก็เกิดขึ้นจากเซลล์มะเร็ง

สัญญาณที่ 3

มีอุจจาระเป็นมูกปนเลือด มีสาเหตุมาจากตัวเนื้องอกที่เกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่นอกจากจะมีลักษณะเป็นก้อนแล้ว มักจะมีแผลแตกที่บริเวณก้อนร่วมด้วย ทำให้มีเลือดออกปนมากับอุจจาระเป็นระยะ

สัญญาณที่ 4

มีขนาดของอุจจาระที่เล็กลง โดยเกิดจากการที่รูของลำไส้ใหญ่แคบลง ฉะนั้น ก่อนกดชักโครก ให้หมั่นสังเกตลักษณะอุจจาระของตัวเองทุกครั้งว่ามีความผิดปกติหรือไม่

สาเหตุการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่ได้มีการพบปัจจัยที่อาจมีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ ได้แก่

การกลายพันธุ์ของยีน

เมื่อยีนในร่างกายมีการกลายพันธุ์ ก็จะไม่สามารถควบคุมการทำงานของเซลล์ได้ สุดท้ายก็จะเติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่ลุกลามไปยังเซลล์ข้างเคียงก่อนที่จะก่อตัวเป็นเนื้อร้าย ซึ่งยีนนั้นมีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกายและถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ต่างๆ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งด้วย

การรับประทานอาหาร
ในปัจจุบัน รูปแบบการรับประทานอาหารมีความเปลี่ยนไปในหลากหลายด้าน ยิ่งในทุกวันนี้บ้านเราก็มักจะนิยมรับประทานอาหารในแบบตะวันตกมากขึ้น ซึ่งเป็นอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน มีกากใยอาหารต่ำ จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารในลักษณะนี้มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ แต่ยังไม่สามารถบอกถึงความพันธ์ของการเกิดโรคกับอาหารการกินที่ชัดเจน

สาเหตุอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น 

    • พันธุกรรม : ในครอบครัวมีประวัติการป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะญาติที่เป็นสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่ หรือน้อง ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรค ที่สำคัญ ความเสี่ยงนั้นจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น หากผู้ที่มีประวัติการป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นก่อนอายุ 45 ปี
    • อายุที่เพิ่มมากขึ้น : ยิ่งอายุที่เพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าอายุน้อยจะไม่พบ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าจะป่วยด้วยโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
    • การอักเสบของลำไส้ : การอักเสบอาจเกิดขึ้นจากโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ อาทิ ลำไส้ใหญ่อักเสบ เป็นแผลเรื้อรัง หรือโรคโครห์น
    • ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย
    • การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
    • การเข้ารับการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็งบริเวณช่วงท้อง
    • ส่งผลจากโรคอื่นๆ อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน

การวินิจฉัยผู้ที่มีความเสี่ยงเป็น ‘โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่’

ผู้ป่วยที่รับการเข้าตรวจจะต้องทำการตรวจเพื่อหาระยะและการกระจายของเซลล์มะเร็งด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยในบางรายอาจได้รับการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีการเอกซเรย์ผ่านการสวนแป้งแบเรี่ยม การตรวจเลือดเพื่อหาระดับของ Carcinoembryonic Antigen (CEA) เพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ ตลอดจนการตรวจทรวงอกและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องไปจนถึงเชิงกราน

นอกจากนี้ การตรวจเพื่อหาการลุกลามของเซลล์มะเร็งก็อาจใช้ CT Scan , MRI หรือการส่องกล้องคลื่นความถี่สูง (EUS) ก็ได้

ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ว่านี้ อาจหมายถึงสิ่งใดก็ได้ที่สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่อบุคคลคนนั้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

    1. เคยมีประวัติเป็นติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ โดยติ่งเนื้อบางชนิดอาจจะกลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมาได้ วิธีตรวจวินิจฉัยจะใช้การส่องกล้อง ซึ่งเมื่อตรวจพบก็จะสามารถผ่าออกได้ก่อนที่ติ่งเนื้อนี้จะกลายเป็นมะเร็งต่อไป
    2. อายุ จากข้อมูลพบว่ากว่า 90% จะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
    3. โรคลำไส้ใหญ่บางชนิด อาจเกิดการอักเสบเรื้อรังและกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

 

  • เคยมีประวัติการเป็นมะเร็งชนิดอื่น

 

    1. มีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งมาก่อน หรือเป็นคนที่มีโรคมาตั้งแต่กำเนิด อาทิ โรคเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ซึ่งก็อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งได้
    2. เกิดจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง แต่ไม่มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

  • การสูบบุหรี่

 

การรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

    • ผู้ป่วยที่อยู่ในขั้น 0 และขั้น 1 ใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว
    • ผู้ป่วยที่อยู่ใน 2 และขั้น 3 ที่มีความเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นมะเร็งลำไส้ซ้ำอีก อาจต้องใช้การฉายรังสีและการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ซึ่งอาจต้องใช้ก่อนหลังผ่าตัด อีกทั้ง ถึงแม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกจนหมด แต่การกลับมาเป็นซ้ำก็มีความเสี่ยงสูงถึง 50 - 60% ฉะนั้น การให้ยาเคมีบำบัดจึงเป็นทางเดียวที่จะลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
    • การผ่าตัด : การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นจะทำในตำแหน่งที่เกิดภายในลำไส้ ส่วนกรณีลำไส้ตรงที่อยู่ในบริเวณเชิงกรานที่มีโครงกระดูกขนาดใหญ่ อาจทำให้ศัลยแพทย์ต้องใช้วิธีการผ่าตัดด้วยวิธีเฉพาะ เพื่อลดโอกาสที่จะต้องตัดชิ้นเนื้อบริเวณใกล้เคียงเพื่อตัดเอาก้อนมะเร็งออกมา
    • ในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่มากจนทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ อาจใช้วิธีการรักษาด้วยการฉายรังสี ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้ก้อนมะเร็งลดลงจนผู้ป่วยสามารถเข้ารับการผ่าตัดเอาออกได้ ในทางการแพทย์จะเรียกว่า Down Staging
    • ผู้ที่อยู่ในระยะที่ 4 ใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกร่วมกับการฉายรังสี อีกทั้งใช้ยาเคมีบำบัดร่วม หรือไม่ร่วมก็ได้ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดตามการลุกลามของมะเร็งที่ไปยังอวัยวะใกล้เคียง อาทิ ตับ , รังไข่ เป็นต้น

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook