ทำไมถึง “ท้องนอกมดลูก”
หลายคนโดยเฉพาะผู้หญิงน่าจะเคยได้ยินเรื่องของการ “ตั้งครรภ์นอกมดลูก” ที่เป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์เป็นอย่างมาก หากพบแพทย์ช้าเกินไป อาจเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ทำไมถึงตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ Sanook! Health มีข้อมูลมาฝากค่ะ
ท้องนอกมดลูก คืออะไร?
การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) คือภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่เป็นอันตรายต่อตัวแม่และเด็ก เป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ประเภทหนึ่ง เพราะตัวอ่อนไม่ฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูกดังที่ควรจะเป็น แต่กลับไปฝังตัวอยู่นอกโพรงมดลูก โดยอาจจะเป็นในส่วนของปีกมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ ปากมดลูก หรือช่องท้อง ซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ผิดปกติ เพราะอยู่ในตำแหน่งที่ผิด ไม่รองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน นอกจากนี้ยังทำให้อวัยวะภายในของคุณแม่ได้รับความเสียหาย จนอาจทำให้เลือดออกในช่องท้อง และเสียชีวิตได้
ใครที่มีความเสี่ยงที่อาจ “ท้องนอกมดลูก” ได้?
1. มีประวัติตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน
2. สตรีที่ตั้งครรภ์ในช่วงที่อายุมากแล้ว มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกมากกว่าสตรีที่อายุน้อยกว่า
3. การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ที่อาจทำให้เกิดพังผืดบริเวณปีกมดลูก ทำให้ขัดขวางการเดินทางของตัวอ่อน หรือทำให้ตัวอ่อนเดินทางช้าลง จนต้องฝังตัวที่บริเวณปีกมดลูกเสียก่อน
4. การผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะบริเวณท่อนำไข่ ที่อาจก่อให้เกิดพังผืด หรือท่อนำไข่ตีบตันบางส่วน ทำให้การเดินทางของตัวอ่อนช้าลง และอาจฝังตัวบริเวณปีกมดลูก ห่อนถึงโพรงมดลูกได้เช่นกัน
5. การรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ท่อนำไข่บีบตัวช้าลง และทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนที่ได้ช้าลงได้
6. การใส่ห่วงอนามัย สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ ในกรณีที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่บริเวณปีกมดลูกแทน
7. การใช้เทคโนโลยีช่วยในการตั้งครรภ์ เช่น การกระตุ้นการตกไข่ด้วยฮอร์โมน หรือการทำกิฟท์ (Gamete Intrafallopian Tube Transfer)
8. ท่อนำไข่มีความผิดปกติ อาจมีพังผืด หรือบีบตัวได้น้อยกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถช่วยตัวอ่อนเคลื่อนไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้สำเร็จ
9. การสูบบุหรี่ มีผลต่อการเคลื่อนไหวของปีกมดลูก และการโบกพัดของขนในท่อนำไข่ ที่จะช่วยเคลื่อนตัวอ่อนไปฝังอยู่นโพรงมดลูก
อาการเริ่มต้น ที่บ่งบอกถึงการ “ท้องนอกมดลูก”
- ปวดท้องน้อยมาก ปวดได้ทั้งซ้ายหรือขวา (ข้างที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่ ในกรณีที่เป็นการฝังตัวในปีกมดลูกข้างใดข้างหนึ่ง)
- เลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอย
- มีประวัติเคยขาดรอบเดือนมาก่อน
- อาจมีอาการซีด หรือปวดไหล่
- หากตรวจภายในจะพบเลือดออกในช่องคลอด หากเสียเลือดภายในช่องท้องมากจะความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็ว เป็นสัญญาณบอกเหตุว่ากำลังจะเกิดอาการช็อค
การรักษาอาการ “ท้องนอกมดลูก”
โดยส่วนใหญ่หากคุณแม่ไม่มีอาการปวดท้องมาก ไม่มีเลือดออกภายในช่องท้อง แพทย์จะคอยดูอาการไปก่อน หรืออาจฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าที่ตัวทารกโดยตรง ได้ แต่หากมีอาการหนัก อาจต้องผ่าตัด โดยอาจตัดปีกมดลูกบางส่วน ตัดปีกมดลูกทั้งหมด หรือดูเอาเฉพาะส่วนที่ตั้งครรภ์ออกก็ได้
อย่างไรก็ตาม การฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ก็เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยติดตามการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ และหากพบสิ่งผิดปกติตั้งแต่แรกๆ การรักษาก็จะยิ่งทำได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลใจให้มากนะคะ