แนะผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หัวใจ “สวดมนต์ สมาธิ” คุมอาการดีขึ้น
Thailand Web Stat

แนะผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หัวใจ “สวดมนต์ สมาธิ” คุมอาการดีขึ้น

แนะผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หัวใจ “สวดมนต์ สมาธิ” คุมอาการดีขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สบส. แนะผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หัวใจกว่า 7 ล้านคน “สวดมนต์ สมาธิ” ชี้ให้ผล! คุมอาการดีขึ้น!

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หนุนให้กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ปฏิบัติธรรมะคือสวดมนต์ ทำสมาธิ ควบคู่กับการคุมอาหาร กินยา ออกกำลังกาย หนุนประสิทธิภาพการรักษา หลังทดลองในชุมชนพื้นที่12 จังหวัดพบว่า สุขภาพดีขึ้นร้อยละ 83 ลดการไปหาหมอ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพกว่าร้อยละ 60 เผยสถิติล่าสุดในปี 2558 คนไทยป่วย 3 โรคนี้รวมกว่า 7 ล้านคน มากที่สุดในกลุ่มสูงอายุรวมกว่า 4 ล้านคน และยังพบในเด็กวัยต่ำกว่ามัธยมต้น ป่วยกว่า 15,000 คน

นายแพทย์ภานุวัตน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประชาชนไทยมีแนวโน้มป่วยจากโรคเอ็นซีดีหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น โดยเฉพาะ 3 โรคที่เปรียบเสมือนเป็นเพื่อนสนิทกัน ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด รายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่รวมกทม. ล่าสุดในปี 2558 จำนวนเพิ่มเป็น 7,622,455 คน มากที่สุดคือโรคความดันโลหิตสูง 5 ล้านกว่าคน บางคนป่วยมากกว่า 1 โรค ผู้ป่วยกว่าครึ่งเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี รวม 15,747 คน สะท้อนถึงการใช้พฤติกรรมชีวิตประจำวันที่ขาดและเกิน เช่นขาดการออกกำลังกาย กินผักผลไม้น้อย กินอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มมากเกินไป

นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวว่า ในการพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมประชาชนในการดูแลสุขภาพ ชุมชนมีความเข้มแข็งในการส่งเสริมสุขภาพตนเองกรม สบส.ได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทัย สุดสุข ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมประชาชนในชุมชนที่ป่วยเรื้อรัง 3 กลุ่มโรคที่กล่าวมา ได้ปฏิบัติศาสนธรรมคือการสวดมนต์และทำสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ใกล้วิถีชีวิต ไม่มีค่าใช้จ่าย ทำควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมตามหลักการของแพทย์คือ การคุมอาหาร การออกกำลังกาย การปรับอารมณ์และการกินยาตามแพทย์สั่ง เนื่องจากมีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พบว่าการสวดมนต์ การทำสมาธิ ทำให้จิตใจสงบ ปรับสมดุลและสารเคมีในร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอาการได้ดีขึ้น

โดยนำร่องศึกษาในชุมชนของ 12 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ ลำพูน กำแพงเพชร ชลบุรี ชัยภูมิ ตรัง พังงา กาญจนบุรี ในปี 2557 ซึ่งได้บูรณาความร่วมมือ 5 องค์กรเครือข่าย ได้แก่ ภาคประชาชน คือ อสม.เป็นแกนหลัก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล วัด โรงเรียน และองค์การบริหารส่วนตำบล ผลพบว่าผู้ป่วยในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้นมากถึงร้อยละ 83 ไม่เครียด ระดับน้ำตาลและความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาล มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์ดียิ่งขึ้น นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 กรมสบส.ได้ขยายผลการสวดมนต์และทำสมาธิลงสู่ชุมชนในตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการ โดยร่วมกับมูลนิธิพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน มูลนิธิแสงสิทธิการ มูลนิธิอุทัย สุดสุข และมูลนิธิไพจิตร ปวะบุตร จัดอบรมวิทยากรทั้ง 5 องค์กรเครือข่าย ดำเนินการรวม 88 ตำบล ใน 12 เขตสุขภาพ

Advertisement

ทางด้านนายแพทย์อุทัย สุดสุข ประธานที่ปรึกษามูลนิธิอุทัย สุดสุข กล่าวว่า การสวดมนต์ และทำสมาธิ จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังรายใหม่ และป้องกันอาการกำเริบหรือเกิดโรคแทรกซ้อนในกลุ่มที่ป่วยแล้ว ลดความถี่ไปโรงพยาบาล ลดการกินยา ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้ เนื่องจากระดับความดังของเสียงและคลื่นเสียงสูง-ต่ำของการสวดมนต์สม่ำเสมอเป็นเวลา 10-15 นาที จะมีผลให้ก้านสมองหลั่งสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่าซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายยานอนหลับ จะลดความเครียด อาการซึมเศร้าและระดับน้ำตาลในเลือดได้

สำหรับการทำสมาธิหรือการปฏิบัติสมาธิซึ่งเป็นการทำให้ภาวะจิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสิ่งนั้น ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าการปฏิบัติสมาธิวันละ 2 ครั้งต่อเนื่องเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ทำให้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติลดลง จึงทำให้ระดับความดันโลหิตลดลง และลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งความดันโลหิตลดลง

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยที่พบว่าการปฏิบัติสมาธินาน 40 นาที จะลดระดับความเครียด ส่งผลให้ต่อมหมวกไตลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นตัวทำให้สารเคมีต่างๆในร่างกาย เช่น น้ำตาลในเลือด อินซูลินมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น หากปฏิบัติสมาธิติดต่อกัน 2 สัปดาห์ จะลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดการอยากสูบบุหรี่ รวมทั้งการปฏิบัติสมาธิ ยังทำให้เกิดสารสุขคือ เมลาโทนิน (Melatonin) ที่หลั่งจากต่อมไพเนียลในสมอง ทำหน้าที่ควบคุมการหลับการตื่นนอน และทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายเพิ่มขึ้น ใบหน้าผ่องใส นอนหลับง่าย ความจำดีขึ้น เกื้อกูลต่อสุขภาพร่างกาย สามารถชะลอความแก่ได้ด้วย ดังนั้นจึงมีประโยชน์ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่ป่วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลง เช่น ร่างกายเคลื่อนไหวได้ช้าลง รู้สึกโดดเดี่ยว หากให้สวดมนต์ทำสมาธิจะช่วยให้มีพลังในตนเอง รู้จักตนเอง มีความมั่นใจ สามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น

ขอบคุณเนื้อหาจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้