เมื่อไร! สงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม
รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์
ศัลยแพทย์ด้านศีรษะ คอ เต้านม
Faclty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ขึ้นชื่อว่ามะเร็งพอได้ยินก็กลัวกันทั้งนั้น ยิ่งสตรีที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก เมื่อคุณหมอบอกว่าแม้ตัดออกหรือทำการรักษาจนหาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งอีก มาดูกันว่าเราจะสังเกตและดูแลตัวเองอย่างไรดี
ก้อนที่เต้านม ไม่เจ็บสิน่ากลัว
บ่อยครั้งสาเหตุที่คนไข้มาหาหมอ มาจากก้อนที่เต้านมเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ อาการเจ็บเต้านม ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม มักจะเริ่มสังเกตและคลำที่เต้านม ส่วนหนึ่งจะพบก้อนร่วมด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่พบก้อนหรือไม่แน่ใจ แต่มักจะลงเอยด้วยการพบหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งมักจะมาพบหมอค่อนข้างเร็ว ผิดกับผู้ที่มีก้อนที่เต้านม คลำได้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ มักจะปล่อยเอาไว้เพราะคิดว่าไม่เป็นไร
ซีสมักจะเจ็บ ส่วนมะเร็งมักจะไม่เจ็บ
ในบรรดาก้อนที่เต้านมนั้น มีโรคกลุ่มหลัก ๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ 1) ซีสเต้านม 2) เนื้องอกเต้านม (ไม่ร้าย) 3) มะเร็งเต้านม ซีสที่เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน โตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังรอบเดือนมาแล้ว ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีซีส มักจะเจ็บที่ก้อน ซึ่งผิดกับกลุ่มเนื้องอกหรือมะเร็ง ซึ่งมักจะไม่ค่อยเจ็บ พบว่าร้อยละ 90 ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน ไม่มีอาการเจ็บ ผู้หญิงหลายๆ คนมีความเข้าใจผิดคิดว่าก้อนที่ไม่เจ็บคงไม่เป็นไรและปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่โตขึ้นมากแล้วจึงรู้สึกเจ็บได้
มะเร็งเต้านมพบได้บ่อยแค่ไหน
แนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นทุกปี ซึ่งกว่าร้อยละ70 ของโรคมะเร็ง เกิดจากสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป มีมลภาวะเพิ่มมากขึ้น สารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหาร รวมถึงความเครียดภายในจิตใจ จากอุบัติการณ์ในการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ 3 ชั่วโมง จะพบว่าผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม 2 คน และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 30 ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ทั้งนี้อัตราการพบมะเร็งเต้านมในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและวิถีการดำเนินชีวิต เช่น ในประเทศตะวันตก พบมะเร็งเต้านมได้มากกว่า 100 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1 แสนคน ส่วนในเอเชียพบน้อยกว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาของไทยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารระบาดวิทยาระดับโลก พบว่าหญิงไทยมีอัตราการพบมะเร็งเพียง 40 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1แสนคน ซึ่งถ้าเทียบเป็นร้อยละก็เพียง 0.04 ซึ่งนับว่าน้อยมาก
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
อายุ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อการเป็นมะเร็งเต้านม พบว่ายิ่งอายุมากขึ้นโดยเฉพาะสตรีวัย 60 ปีขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 50 – 60 รองลงมาคือการเคยผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านม และพบว่าเป็นซีสเต้านมชนิดที่เริ่มผิดปกติ (atypia) และการพบว่ามีญาติสนิท(แม่ พี่สาว น้องสาว หรือลูก) เป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 2 คน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย ได้แก่ การเริ่มมีประจำเดือนมาครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย การหมดประจำเดือน (วัยทอง) ช้า การไม่มีบุตร หรือมีบุตรยาก และการที่เคยใช้ยากลุ่มฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี เป็นต้น
สงสัยว่าเป็นมะเร็งเมื่อไร
ดังได้กล่าวมาแล้ว มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด (มีเพียงร้อยละ10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มาพบหมอด้วยอาการปวดเต้านม) แต่จะคลำพบก้อนที่เต้านมสังเกตถ้าก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านมมักจะแข็งและขรุขระ แต่อาจเป็นก้อนเรียบๆ ได้ อาการอื่น ๆ อาจพบผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือมีรูปร่างของเต้านมผิดไปจากเดิม หรืออาจมีแผลที่หัวนมและรอบหัวนม หรือมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม บางรายคลำพบก้อนบริเวณรักแร้ และนานๆ ครั้งจะพบมะเร็งเต้านมที่มีอาการบวมแดงคล้ายการอักเสบที่เต้านม นอกจากอาการผิดปกติที่เต้านมแล้ว การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม(mammogram) และ อัลตราซาวด์ (ultrasound) ยังสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมขนาดเล็กตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ โดยอาจพบก้อน หรือจุดหินปูนในเนื้อเต้านมได้
ตรวจเลือดและยีน (gene) บอกได้ไหมว่าเป็นมะเร็งเต้านม
การตรวจเลือดเพื่อหามะเร็งเต้านมนั้น มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ เนื่องจากผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมจะพบผลการตรวจเลือดเกี่ยวกับมะเร็ง เช่น CA153, CEA ผิดปกติน้อยกว่าร้อยละ 20 ขณะเดียวกันผู้ที่มีผลเลือดปกติ ก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว
ส่วนการตรวจยีน เช่น gene BRCA1, BRCA2 ซึ่งจะมีความผิดปกติในมะเร็งเต้านมที่เป็นกันทั้งครอบครัว หากตรวจพบก็ไม่ได้หมายความว่า กำลังเป็นมะเร็งอยู่ เพียงแต่ทำให้รู้ว่าโอกาสจะพบมะเร็งเต้านมในคน ๆ นั้นมีมากกว่าคนทั่วไป และยีนดังกล่าวก็พบได้เพียงร้อยละ 5 - 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด ดังนั้นหากตรวจยีนดังกล่าวแล้วปกติก็ยังมีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมอยู่ไม่น้อย
10 คำถามยอดนิยมเกี่ยวมะเร็งเต้านม
-
เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ?
ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการเจ็บ ซึ่งสาเหตุของอาการเจ็บนั้นอาจมาจากเนื้อนมโดยตรง มีผลมาจากระดับของฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในบางรายอาจตรวจไม่พบสาเหตุของการเจ็บเต้านมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บเต้านมที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยกว่า 95% ไม่ได้มีสาเหตุมาจากมะเร็งเต้านม มีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นผลมาจากมะเร็งเต้านม จะเกิดขึ้นเฉพาะในรายที่มีก้อนเนื้อค่อนข้างใหญ่ รวมถึงมีการลุกลามของเซลล์มะเร็วมาสู่ผิว จึงทำให้เกิดอาการเจ็บ
-
ก้อนเนื้อที่พบตรงบริเวณเต้านมเกิดจากอะไร ?
ก้อนเนื้อที่มักพบบริเวณเต้านมนั้นอาจะเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง หรืออาจไม่เป็นมะเร็งก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ใช่มะเร็ง อาทิ การที่เนื้อบริเวณเต้านมหนาตัวขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิง หรืออาจเป็นเนื้องอกของเต้านม นอกจากนั้นก็อาจเป็นถุงน้ำ (cyst) ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมได้
-
ถุงน้ำที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านมจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ ?
ถุงน้ำของเต้านม หรือที่เรียกกันในชื่อทั่วๆ ไปว่า ซีสต์ มีลักษณะเป็นถุงที่ภายในประกอบด้วยน้ำ โดยส่วนใหญ่แล้วถุงน้ำนี้จะไม่กลายเป็นมะเร็ง หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องรักษา ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนของฮอร์โมนในร่างกายก็เป็นเหตุให้เกิดซีสต์มากขึ้น แต่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัด พบว่าผู้หญิงที่มีวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสที่จะเป็นซีสต์เพิ่มมากขึ้นทั้งจำนวนและขนาด ใช้วิธีการรักษาด้วยการเจาะดูดเอาน้ำออกประมาณ 1 - 2 ครั้ง หากยังมีอาการเจ็บ หรือมีซีสต์เกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องทำการผ่าตัดออก แต่ถ้าหากเป็นซีสต์ที่เรียกว่า complicated cyst หรือ complex cyst มีลักษณะที่เป็นถุง ภายในประกอบด้วยน้ำและเนื้อ จำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อนำเอาเนื้อข้างในมาตรวจให้ชัดเจนว่าสาเหตุของการเกิดมาจากมะเร็งหรือไม่
-
ผิวหนังของเต้านมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ?
เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นที่บริเวณเต้านม อาจตามมาด้วยความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก แพทย์มักให้ความสำคัญกับการที่เต้านมมีสะเก็ด หรือมีผิวหนังลอกที่บริเวณหัวนม ซึ่งถึงแม้จะทำการรักษาแล้วแต่ไม่หายขาด อาจต้องเดินทางไปพบกับศัลย์แพทย์เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่
-
การเสริมเต้านมจะช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ?
ซิลิโคนที่ใช้สำหรับเสริมเต้านมนั้นจะมีลักษณะเป็นถุงน้ำเกลือ ซึ่งเมื่อทำการเสริมเข้าไปแล้วไม่ได้เพิ่มโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นได้ แต่การเสริมเต้านมนี้อาจไปรบกวนการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวน์ได้ โดยจะทำให้ความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยลดน้อยลง โดยหากแพทย์พบว่าผู้ที่เสริมเต้านมมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ก็จะส่งไปตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่นแทน
-
มีน้ำไหลออกมาจากหัวนมจะเป็นอันตรายหรือไม่ ?
ของเหลวที่ไหลออกจากเต้านมมีได้อยู่หลายแบบ ซึ่งของเหลวที่ไหลจากเต้านมที่ไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านมมักออกจากเต้านมทั้งสองข้าง หรือข้างเดียว แต่หลายจุด โดยของเหลวที่ไหลออกมาจะมีสีขาวคล้ายน้ำนม ส่วนของเหลวที่ไหลออกจากเต้านมที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมนั้นมักออกจากเต้านมข้างเดียว จุดเดียว โดยของเหลวที่ไหลออกมาบางครั้งก็มีสีคล้ายเลือด ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ไปตรวจเพื่อหาสาเหตุ ถ้าหากไม่พบสาเหตุของการไหลดังกล่าว แพทย์ก็จะแนะนำให้ตัดเอาท่อที่เป็นสาเหตุของการมีของเหลวนั้นออกจากหัวนมเพื่อนำไปพิสูจน์ อีกประการหนึ่ง สาเหตุที่ทำให้มีของเหลวไหลออกมาจากเต้านมและพบได้บ่อย คือ การมีเนื้องอกที่อยู่ในท่อน้ำนม เรียกว่า intraductal papilloma นอกจากนั้นก็อาจมีการขยายตัวของท่อน้ำนมที่ผิดปกติ โดยมักไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม
-
มะเร็งเต้านม รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?
ในปัจจุบัน โอกาสที่จะทำการรักษามะเร็งเต้านมให้หายขาด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เดินทางมาพบแพทย์ หากว่าพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นที่โอกาสรักษาให้หายสูง ยิ่งเรามาพบแพทย์ในระยะต้นๆ ที่เริ่มเป็นมะเร็งเต้านม โอกาสที่จะหายขาดก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น
-
เมื่อผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งที่เต้านมออก จะมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกหรือไม่ ?
การจะวินิจฉัยว่าเมื่อตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกแล้วจะสามารถกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมได้อีกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยส่วนมากหากพบมะเร็งก้อนเล็ก การผ่าตัดสามารถนำออกได้หมดก็จะไม่กลับมาเป็นอีก ซึ่งอย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกจนหมดแล้ว ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำอีก
-
การรักษามะเร็งเต้านมจำเป็นต้องผ่าตัดเป็นวิธีเดียว หรือสามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ด้วย ?
ในขั้นแรกของการรักษาผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม มีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเอาก้อนเนื้อที่เป็นเซลล์มะเร็งออกไปให้ได้มากที่สุดก่อน ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ นอกเหนือจากการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็น การรักษาด้วยเคมีบำบัด การให้รับประทานยาต้านฮอร์โมน หรือด้วยวิธีการใดก่อนหลังนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น หากผู้ป่วยมีก้อนเนื้อที่ใหญ่ แต่เพิ่งเดินทางมาให้แพทย์ตรวจรักษา หรือมีการลุกลามของมะเร็งเต้านมไปจนถึงผิวหนัง หรือมีการลุกลามไปจนถึงกล้ามเนื้อใต้เต้านมแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องให้ยาเพื่อลดขนาดของก้อนเนื้อก่อนทำการผ่าตัด นอกจากนั้น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีขนาดของก้อนเนื้อไม่ได้ใหญ่มาก แต่มีเนื้อนมน้อย และอยากผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ แพทย์ก็อาจจะพิจารณาให้ยาก่อนเข้าผ่าตัด
-
เมื่อไรที่ควรตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม ?
โดยทั่วไป การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องแมมโมแกรมนั้นมีอยู่ 2 กรณี ได้แก่
- การตรวจแมมโมแกรมเพื่อคัดกรองเรื่องมะเร็งเต้านม โดยแนะนำให้ตรวจเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป หากเป็นไปได้ก็ควรไปตรวจปีละ 1 ครั้ง
- ทำการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมเมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์เนื่องจากมีอาการที่เกี่ยวกับเต้านม โดยแพทย์พิจารณาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตรวจเต้านมเพิ่มเติมด้วยเครื่องแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวน์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี หรือเป็นผู้ป่วยที่มีเนื้อนมค่อนข้างแน่น การตรวจแมมโมแกรมจะมองเห็นเป็นสีขาว ซึ่งจะบดบังลักษณะของเร็ง ทำให้ตรวจวินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก ส่วนมากแล้ว แพทย์จะไม่แนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม แต่จะให้ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์แทน เว้นแต่ในบางกรณีที่แพทย์มีความสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม ก็อาจสั่งให้ให้ไปทำการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 35 ก็ได้
มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ
ในความเป็นจริงแล้ว โรคมะเร็งเต้านม สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง มีลักษณะคล้ายกับการเกิดมะเร็งทั่วๆ ไป ซึ่งการเกิดมะเร็งระยะศูนย์จะยังไม่นับว่าเป็นโรคมะเร็ง เนื่องจากยังไม่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็ง เพื่อให้เข้าใจตรงกัน มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ได้ดังนี้ ..
- ระยะศูนย์ : ก้อนเนื้อมะเร็งที่พบจะมีขนาดเล็ก ไม่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็ง โดยจะอยู่แค่เพียงในชั้นผิวของเนื้อเยื่อเต้านมเท่านั้น โดยในระยะศูนย์นี้อัตราการรอดของผู้ป่วยอยู่ที่ 95 - 100% มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 5 ปี
- ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อมะเร็งที่พบมีขนาดโตขึ้น และ/หรือมีการลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองรักแร้ฝั่งเดียวกับที่เกิดโรค แต่ยังมีการลุกลามที่น้อยต่อม มีอัตราการรอดอยู่ที่ 90 - 100% มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 5 ปี
- ระยะที่ 2 : ก้อนเนื้อมะเร็งที่พบจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และ/หรือมีการลุกลามเข้าไปที่ต่อมน้ำเหลือง แต่ยังมีการลุกลามที่น้อย มีอัตราการรอดอยู่ที่ 85 - 90% มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 5
- ระยะที่ 3 : ก้อนเนื้อมะเร็งที่พบโตขึ้นมาก และ/หรือมีการแตกเป็นแผล และ/หรือจับเคลื่อนไม่ได้เนื่องจากก้อนเนื้อยึดติดกับกล้ามเนื้อหน้าอก จนลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองของรักแร้ในจำนวนที่มากขึ้น และ/หรือลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในช่องอก และ/หรือลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่เหนือไหปลาร้าฝั่งเดียวกับที่เกิดโรค ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดอยู่ที่ 65 - 70% มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 5 ปี
- ระยะที่ 4 : ในระยะนี้นับว่าเป็นช่วงอันที่อันตรายมากที่สุด เพราะโรคจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นก็จะลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่จะพบได้ในปอด กระดูก ตับ สมอง และไขกระดูก ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะที่ 4 นี้มักไม่หายขาด โดยทั่วไปจะสามารถอยู่ได้ 1 - 3 ปี ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่โรคนั้นแพร่กระจายไป มีอัตราการรอดอยู่ที่ 0 - 20%
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง
หากว่าคุณสาวๆ ต้องการที่จะรู้ก่อนว่าตนเองนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ หรือตอนนี้เรากำลังเป็นมะเร็งเต้านมอยู่รึเปล่า ก็สามารถตรวจหาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองก่อน ซึ่งเป็นการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงหมั่นทำเป็นประจำทุกเดือน ทำได้ในผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนในการตรวจหานั้น คุณจะต้องทราบก่อนว่าขนาดและลักษณะของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในบางคนมีขนาดที่โตและแข็งก่อนจะเริ่มมีประจำเดือน หรือในบางคนเต้านมจะแข็งตลอดเวลาในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทองขนาดของเต้านมก็จะเล็กลง ล้วนแต่เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ฉะนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะในการตรวจเต้านมที่ดีที่สุดจึงควรเป็นช่วง 5 - 7 วันหลังการมีประจำเดือนวันสุดท้าย เพราะในช่วงนี้เต้านมจะอ่อนนุ่มมากที่สุด ทำให้สามารถคลำเจอก้อนที่มีขนาดเล็กได้โดยง่าย ส่วนผู้หญิงในวัยทอง หรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกนั้นก็สามารถตรวจได้ตามสะดวก แนะนำว่าให้กำหนดวันที่แน่นอนสำหรับการตรวจเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ คราวนี้ก็มาลองดูวิธีตรวจกันบ้างว่าจะมีวิธีไหนให้คุณผู้หญิงสามารถตรวจเต้านมได้อย่างสะดวก
การดูเต้านมหน้ากระจก
วิธีการนี้ไม่ยาก เพียงให้ยืนตัวตรง มือแนบลำตัว แล้วลองสังเกตลักษณะของเต้านมทั้ง 2 ข้างอย่างละเอียด เปรียบเทียบดูขนาด รูปร่างของหัวนม และการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในทุกส่วนของเต้านม เช่น รอยนูนที่ขึ้นผิดปกติ รอยบุ๋ม หัวนมบอด ระดับของหัวนมที่ไม่เท่ากัน มีแผล หรือมีเส้นเลือดใต้ผิวมากขึ้นผิดปกติหรือไม่ ซึ่งการสังเกตก็ให้เปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้างว่าแตกต่างไปจากเดิม หรือผิดปกติไปจากอีกข้างหรือไม่ เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมจะเป็นเพียงข้างเดียว จากนั้นให้หันตัวเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นด้านข้างของเต้านมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วให้สังเกตความเปลี่ยนแปลง
ต่อมา ให้ยกมือขึ้นทั้งสองข้าง เพื่อสังเกตความผิดปกติของรอยบุ๋มผิวหนังบริเวณเต้านมที่เกิดจากการดึงรั้ง เนื่องจากในรายที่เป็นมะเร็งอาจมีการดึงรั้งของเนื้อเยื่อและทำให้เกิดรอยบุ๋มได้ จากนั้น ให้เอามือเท้าสะเอวเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกตึงตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อสังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนัง เมื่อไม่พบความผิดปกติจากการสังเกตที่เต้านมแล้ว ให้ทำในขั้นตอนถัดไป
การคลำเต้านมในท่านั่ง
วิธีนี้เป็นการตรวจให้ทั่วพื้นที่ของบริเวณเต้านมโดยรอบ เริ่มต้นให้ใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง บริเวณที่ค่อนไปทางปลายนิ้ว เพราะเป็นจุดที่ไวต่อการสัมผัส ให้คลำเต้านมในลักษณะคลึงเป็นก้นหอยเล็กๆ ไปตามเต้านม เนื่องจากตำแหน่งของเต้านมที่อยู่บนผนังหน้าอกเป็นตำแแหน่งที่สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งเต้านมได้ ต่อมา ให้สังเกตความผิดปกติว่ามีของเหลว หรือมีเลือดออกมาจากหัวนมในขณะที่กดบริเวณปานนมหรือไม่ แนะนำว่าการบีบบริเวณหัวนมควรทำอย่างเบามือ เพราะถ้าพบว่ามีความผิดปกติจริงจะมีน้ำ หรือเลือดออกจากหัวนมเมื่อมีการกดได้โดยไม่ต้องบีบเค้น จากนั้น ให้ใช้นิ้วมือคลำบริเวณเต้านมส่วนที่อยู่ใต้รักแร้ว่ามีก้อน หรือต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติหรือไม่ โดยให้ห้อยแขนลงมาเพื่อให้กล้ามอกหย่อนลง จะได้คลำรักแร้ได้อย่างชัดเจน
การคลำเต้านมในท่านอน
ต่อจากวิธีที่สอง ในวิธีนี้ให้คุณสาวๆ ใช้หมอน หรือผ้าห่มหนุนตรงสะบักหลัง เพื่อให้หน้าอกด้านหน้าแอ่นขึ้น ยกแขนหนุนไว้กับศีรษะ แล้วใช้ฝ่ามือด้านตรงข้ามคลำตรวจเต้านมทีละข้าง อาทิ ถ้าจะคลำเต้านมซ้ายก็ให้ใช้มือขวาคลำ ซึ่งวิธีการคลำนั้นให้ใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว คลำในลักษณะคลึงวนเป็นก้นหอยเล็กๆ บริเวณเต้านมให้ทั่ว โดยไล่จากด้านนอกเข้ามายังหัวนม จะคลำตามเข็ม หรือทวนเข็มนาฬิกาก็ได้ ไล่ความแรงเป็น 3 ระดับ คือ ระดับตื้นลงไปจากผิวหนังเล็กน้อย , ระดับลึกลงไปอีก และระดับที่ลึกถึงผนังหน้าอก จากนั้นก็ให้สังเกตดูว่ามีก้อนอะไรดันอยู่ หรือสะดุดใต้ฝ่ามือหรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งเต้านม มักจะพบได้ที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมมากว่าส่วนอื่นๆ ฉะนั้นจึงควรสังเกตดูบริเวณนี้ให้ละเอียด
สำหรับคุณผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้วิธีการนอนตะแคง โดยเอาด้านข้างของลำตัวด้านใดด้านหนึ่งก่อนให้สูงขึ้น เพื่อที่จะคลำด้านข้างได้ชัดเจน หากไม่ทำเช่นนี้เนื้อของเต้านมจะไปกองรวมกันอยู่ที่บริเวณด้านข้าง จะทำให้คลำได้ยาก หรืออาจใช้วิธีคลำลงล่างและขึ้นบนไปมาจนทั่วบริเวณ แล้วนอนหงายเพื่อคลำด้านในให้ทั่วเช่นเดียวกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม
- สำหรับผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิงที่ในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งเต้าก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ รวมถึงผู้ที่เคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมก็มีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่สูงกว่าคนปกติอีกด้วย
- ผู้หญิงที่มีบุตรหลังอายุ 30 ปีขึ้น ทั้งนี้ อาจรวมถึงหญิงที่ไม่เคยมีบุตรก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
- การกลายพันธุ์ของยีน เช่น เกิดการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 ก็สามารถทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ รวมถึงยังสามารถถ่ายทางพันธุกรรมได้อีกด้วย
- ผู้หญิงที่มีเต้านมเต่งตึงมากกว่าอายุ อาทิ หญิงที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และมีความหนาแน่นของเต้านมมากกว่าร้อยละ 75 ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากว่าคนปกติ
- ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาตั้งแต่ก่อนอายุ 12 ปี หรือการที่ประจำเดือนหมดช้าหลังจากอายุ 55 ปี ก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้าได้ง่ายกว่าคนปกติ
- ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง รวมถึงผู้ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น
- การสูบบุหรี่ ทำให้เพิ่มในการที่จะเป็นมะเร็งเต้านม
รู้อย่างนี้แล้วกันไว้ดีกว่า ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ พบแพทย์ตรวจเมื่อมีอาการสงสัย อย่าปล่อยไว้เพราะไม่เจ็บ และตรวจแมมโมแกรมประจำปีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง
อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto