ริดสีดวงทวารป้องกัน...ดีกว่าแก้

ริดสีดวงทวารป้องกัน...ดีกว่าแก้

ริดสีดวงทวารป้องกัน...ดีกว่าแก้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ริดสีดวงทวารป้องกัน...ดีกว่าแก้
ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย แต่ความชุกของโรคมีจำนวนเท่าใดระบุชัดไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากมักจะมีความอายที่จะมาพบแพทย์ จึงเก็บอาการของโรคไว้เป็นความลับส่วนตัว จนกระทั่งมีอาการมากแล้วจึงมาพบแพทย์

ริดสีดวงทวารคืออะไร?
ริดสีดวงทวาร คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพอง(ขอด)เป็นหัว ซึ่งอาจมีได้หลายหัวและเป็นพร้อมกันได้หลายแห่ง ริดสีดวงทวารสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

1. ริดสีดวงทวารชนิดภายใน คือ กลุ่มหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้ชั้นเยื่อบุลำไส้ภายในรูทวารหนักปูดพอง(ขอด) ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อใช้กล้องส่องตรวจ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เริ่มมีหัวริดสีดวงเกิดขึ้นแต่ไม่มีก้อนเนื้อยื่นออกมา และจะมีเลือดสดๆออกขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมาเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระและจะหดกลับเข้าไปได้เองภายหลังถ่ายอุจจาระเสร็จ
ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมาเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ ไอ จาม ยกของหนัก หรือออกกำลังกาย และจะไม่กลับเข้าไปเอง ต้องใช้นิ้วมือดันเข้าไป
ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาคาอยู่ข้างนอกตลอดเวลา ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ ผู้ป่วยจึงรู้สึกเจ็บปวด

2. ริดสีดวงทวารชนิดภายนอก คือ กลุ่มหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้ผิวหนังบริเวณปากทวารหนักปูดพอง(ขอด) ซึ่งสามารถมองเห็นและคลำได้ เพราะผิวหนังรอบๆทวารจะถูกดันจนโป่งออกมา ผู้ป่วยจึงรู้สึกเจ็บปวด

สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในผู้ที่

1. ท้องผูกเรื้อรัง
2. ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ
3. มีอุปนิสัยเบ่งถ่ายอุจจาระอย่างมาก เพื่อพยายามขับอุจจาระออกไป
4. มีอุปนิสัยใช้เวลานั่งถ่ายอุจจาระนาน
5. ตั้งครรภ์ ทำให้ถ่ายอุจจาระไม่สะดวก
6. ภาวะโรคตับแข็ง ทำให้เลือดดำไหลเข้าตับไม่ได้ จึงเกิดเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง
7. อายุมาก
8. ไอเรื้อรัง
9. น้ำหนักมาก

อาการที่พบคือ

1. มีเลือดสีแดงสดออกมาขณะถ่ายอุจจาระหรือหลังถ่ายอุจจาระ แล้วเสร็จ
2. มีก้อนเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ
3. คันหรือระคายเคืองรอบๆ ปากทวารหนัก
4. คลำได้ก้อนที่บริเวณทวารหนักและมักมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย

ความรุนแรงของโรคริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวารหนักสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 : ในระยะนี้ยังไม่มีติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อยื่นออกมานอกทวารหนัก
  • ระยะที่ 2 : ในระยะนี้เริ่มมีติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อยื่นออกมาขณะที่เบ่งถ่ายอุจจาระ และอาจจะหดกลับเข้าไปได้เองโดยไม่ต้องใช้มือช่วยดัน อีกทั้งยังไม่รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส แต่มีเลือดออก
  • ระยะที่ 3 : ในระยะนี้จะมีติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อยื่นออกมาขณะที่เบ่งอุจจาระ แต่ไม่หดกลับเข้าไปเอง ต้องใช้มือช่วยดันจึงจะกลับเข้าไปในทวารหนัก
  • ระยะที่ 4 : ในระยะนี้ ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อยื่นออกมาแล้ว จะไม่สามารถใช้มือดันติ่งเนื้อกลับเข้าไปในทวารหนักได้อีก

การรักษา แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามความรุนแรงของโรค ซึ่งมีหลายวิธีคือ
1. การใช้ยาเหน็บทวาร ครีมทาทวาร (ถ้าซื้อใช้เองไม่ควรใช้นานเกิน 1 สัปดาห์) และรับประทานยาระบายเพื่อลดการอักเสบและระคายเคือง
2. การฉีดยาเข้าไปที่หัวริดสีดวงทวารหรือใช้แถบยางรัดโคนหัวริดสีดวงทวาร เพื่อให้ฝ่อไป
3. การจี้หัวริดสีดวงทวารด้วยความร้อนหรือความเย็น
4. การผ่าตัดเอาหัวริดสีดวงทวารออก
หลังการรักษาอาการของโรคจะดีขึ้นหรือหายขาดได้ แต่ถ้ายังมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ไม่ถูกต้องก็อาจมีหัวริดสีดวงทวารเกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการดูแลตนเองให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

วิธีการปฏิบัติตัวในการป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคริดสีดวงทวาร

1. รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น รำข้าว ข้าวซ้อมมือ งาดำ ผักและผลไม้ทุกชนิด
2. ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 6- 8 แก้ว การดื่มน้ำแก้วใหญ่ ทันทีหลังตื่นนอนตอนเช้าจะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้
3. หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารรสจัด อาหารที่ไม่สุกสะอาด
4. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
5. หลีกเลี่ยงการกลั้นหรือเบ่งถ่ายอุจจาระ และควรฝึกหัดการขับถ่ายให้เป็นเวลา
6. ทำความสะอาดบริเวณทวารหนักภายหลังการขับถ่ายด้วยน้ำ เพื่อความสะอาดและลดการระคายเคือง
7. หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบายอย่างรุนแรง หรือการสวนถ่ายอุจจาระเป็นประจำจนเป็นนิสัย
8. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
9. ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะทำให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น
10. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
11. หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้สบายอยู่เสมอ

ในผู้ที่มีอาการปวดริดสีดวงทวารรุนแรงเฉียบพลันควรรีบมาพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อมารับการตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆที่เป็นอันตรายเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่มีอาการปวดและไม่มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นสามารถรับประทานยาแก้ปวดและนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่นวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที เพื่อลดอาการเจ็บปวดได้
แม้ว่าโรคริดสีดวงทวารจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่ก็มีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การนั่ง ยืน หรือเดินอาจไม่สะดวกเนื่องจากอาการเจ็บปวด ซึ่งการมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ถูกต้องจะป้องกันการเกิดโรคหรือลดอาการรุนแรงของโรคได้ และเพื่อแยกโรคริดสีดวงทวารจากโรคอื่นๆ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน

ตัวอย่างปริมาณกากใยในอาหารแต่ละชนิด

 

โรคริดสีดวง เป็นอันตรายรึเปล่า ?

โดยปกติ โรคริดสีดวงที่เกิดขึ้นกับทวารหนักมักไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่สิ่งที่อันตรายและน่าเป็นห่วง คือ การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องว่าผู้ป่วยเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก แต่กลับวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อร้าย ส่วนข้อที่อันตรายที่สุดอีกข้อหนึ่ง คือ กรณีที่ป่วยเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักภายในแล้วเกิดการเสียเลือดมาก หากเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางอยู่แล้วจะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ซึ่งอาจทำให้หัวใจล้มเหลวและเสียชิวิตในที่สุด


ริดสีดวงช่วงตั้งครรภ์ ริดสีดวงประเภทนี้มักจะขึ้นจากปัญหาท้องผูก โดยสามารถพบได้ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ หรือขณะตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์นั้นเป็นช่วงที่ฮอร์โมนมีความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดการยืดขยายตัวของกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินอาหาร และเกิดการกดทับของลำไส้ที่มีสาเหตุมาจากมดลูกที่มีขนาดเพิ่มขึ้น หากปล่อยอาการท้องผูกเอาไว้ไม่รักษา หรือไม่ทำให้หายก็จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงได้

ผลข้างเคียงจากการเป็น ‘ริดสีดวงทวาร’

  • ภาวะซีด : ภาวะนี้จะเกิดขึ้นมีเลือดออกจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง และเกิดขึ้นเรื้อรัง โดยที่ในบางครั้งก็จะมีเลือดออกมาและไม่สามารถหยุดเองได้ จนอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง จำเป็นที่จะต้องรีบเดินทางไปพบแพทย์ แต่ในกรณีที่มีเลือดออกมากจนทำให้เกิดเป็นภาวะโลหิตจางนั้นพบได้น้อย และเลือดออกมากจนทำให้เสียชีวิตนั้นยังพบได้น้อยมาก ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง
  • ภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ : ภาวะนี้มีสาเหตุมาจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดซึ่งโดยปกติก็จะทำหน้าที่ช่วยปิดตัวหูรูดของปากทวารหนักในช่วงที่ยังไม่ถ่ายอุจจาระ แต่เมื่อเกิดการโป่งพองของหลอดเลือด ก็จะทำให้หูรูดของทวารหนักปิดไม่สนิท จึงทำให้เกิดกลั้นอุจจาระไว้อยู่ตามมา
  • ภาวะติดเชื้อ : ภาวะนี้จะทำให้เกิดเป็นฝี หรือหนองในบริเวณก้นได้
  • เพิ่มเติม : เมื่อกลุ้มเนื้อเยื่อหลอดเลือดปลิ้นออกมานอกทวารหนักในระยะที่ 4 ก็จะเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดขาดเลือดและเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ซึ่งนับว่าเป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะต้องรีบเดินทางไปพบแพทย์โดยด่วน

เอกสารอ้างอิง

ธีรพล อังกูรภักดีกุล.(2546).ริดสีดวงทวาร.Healthtoday,ปีที่ 3(ฉบับที่ 25),หน้า 68 - 73.
ปริญญา ทวีชัยการ.(2544).ริดสีดวงทวารหนัก.เอกสารเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการของชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก.พิมพ์ครั้งที่ 1
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. (2546). ท้องผูกและริดสีดวงทวาร. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.(2544).ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป.(พิมพ์ครั้งที่ 3) กรุงเทพ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
www.md.chula.ac.th

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง รุ่งฤดี จิณณวาโส และ ภัทราพร พูลสวัสดิ์


จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร 0-2201-2520-1


ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/74

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook