โรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรครูมาตอยด์

เป็นภาวะอักเสบเรื้อรังที่เกิดกับข้อที่มีเยื่อบุเกือบทุกข้อของร่างกาย (ข้อที่มีเยื่อบุเป็นข้อที่มักจะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เช่น ข้อแขน ข้อขา ข้อไหล่ เป็นต้น) เป็นเวลานานอย่างน้อย 6 สัปดาห์ขึ้นไปถึงหลายๆปี ภาวะอักเสบนี้ทำให้เยื่อข้อหนาตัว กระดูกข้อพรุน ข้อยึดติดผิดรูปและพิการได้

เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง โรครูมาตอยด์เกิดขึ้นกับคนทุกเชื้อชาติ ในคนผิวขาวพบประมาณร้อยละ 0.3 – 1.5 ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่มารักษาในโรงพยาบาลได้บ่อยอัตราเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 :1 อายุที่พบมากอยู่ในช่วง 20 - 50 ปี

สาเหตุ สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องคือ

1. กรรมพันธุ์ พบฝาแฝดไข่ใบเดียวกันมีโอกาสเป็นสูง แต่ไม่พบว่ามีอุบัติการณ์สูงในครอบครัวทั่วไป
2. การตดเชื้อ มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคนี้ อาจเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อม เพราโรคติดเชื้อหลายโรคทำให้เกิดข้ออักเสบแต่ไม่มีโรคใดที่มีพยาธิสภาพเหมือนโรครูมาตอยด์เลยที่เดียว
3. ฮอร์โมนเพศ เนื่องจากพบว่าผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า ถ้าผู้หญิงวัยเจริญพันธ์จะพบมากกว่าผู้ชาญถึง 4.5 – 10 เท่า
4. สิ่งแวดล้อมอื่นๆ

อาการและอาการแสดง

1. ข้ออักเสบมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ข้อฝืด ปวดตึงข้อ ข้ออักเสบมาก ปวด บวม แดง ร้อน จนถึงข้อผิดรูป อาการปวดมักเป็นตอนเช้าผู้ป่วยมักจะรู้สึกตึงขยับลำบาก บางรายใช้เวลานานกว่าจะลุกมาทำกิจวัตรประจำวันได้ ข้อที่พบบ่อยคือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อกลางนิ้วมือ ข้อโคนนิ้วมือ ฯลฯ ลักษณะมักจะเป็นสองข้างเหมือนกัน เช่น ข้อมือทั้งสองข้าง เข่าทั้งสองข้าง ข้อเท้าทั้งสองข้าง ถ้าเป็นที่ข้อนิ้วจะไม่เหมือนกันทั้งสองข้างทีเดียว แต่ที่น่าสังเกตคือ ข้อปลายนิ้วมือมักไม่มีการอักเสบ ข้อกระดูกคอก็พบว่าอักเสบได้บ่อย
2. กล้ามเนื้อและเอ็น มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้าและลีบลง เกิดจากภาวะการอักเสบเรื้อรังและการทำลายข้อร่วมกับการที่ผู้ป่วยปวดข้อจึงมักอยู่นิ่งๆในท่างอข้อเนื่องจากจะรู้สึกสบายขึ้น จึงทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหดเกร็ง จนเกิดการพิการผิดรูปร่างของข้อได้
3. ปุ่มหรือก้อนรูมาตอยด์ เป็นก้อนหยุ่นคล้ายยางลบพบใต้ผิวหนัง บริเวณที่พบได้บ่อยๆ เช่น ข้อศอก มักจะพบในภาวะที่มีการอักเสบรุนแรง
4. ไข้ระยะการอักเสบอาจมีไข้ประมาณ 38.5 องศา ในผู้ป่วยบางรายเวลามีไข้อาจจะพบผื่นตามตัว แขนขา ร่วมด้วย
5. อาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด
6. อาการของระบบอื่นๆที่พบได้บ่อย เช่น ตาขาวอักเสบ ม่านตาอักเสบจนถึงตาบอด มีน้ำหรือก้อนในช่องเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซีด เม็ดเลือดขาวต่ำต่อมน้ำเหลืองโต หลอดเลือดเล็กๆอักเสบทำให้มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้าจนถึงเป็นแผลเนื้อตายได้

การวินิจฉัย เนื่องจากโรคที่ทำให้ข้ออักเสบมีหลายโรค เช่น โรคเอสแอลอีโรคเกาต์ ข้ออักเสบ โรคสะเด็ดเงิน ไข้รู้มาติค ภาวะติดเชื้อต่างๆ เช่น วัณโรค หนองใน แบคทีเรีย และไวรัส ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะคล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มาก ดังนั้นการวินิจฉัยอาจต้องอาศัยการตรวจเลือด ตรวจน้ำไขข้อ ตรวจเยื่อบุข้อ เพื่อแยกโรคข้ออักเสบอื่นๆออก บางครั้งอาจจะต้องใช้อาการทางคลีนิคร่วมในการวินิจฉัยด้วย เช่น ลักษณะของโรคเลวลง มีการกัดกร่อนข้อจากการถ่ายภาพรังสี

การรักษา แม้ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังที่รักษายากแต่ก็เป็นโรคที่รักษาได้ ร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยมีโอกาสที่ข้อจะหายอักเสบกลับมาเป็นปกติ

การรักษามี 3 วิธีร่วมกันคือ รักษาด้วยยา รักษาด้วยกายภาพบำบัด และรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไป เป็นการรักษาตามอาการที่เกิดโดยดูจากระยะเวลาที่จำเป็น จำนวนข้อที่อักเสบ ความพิการ ความรุนแรงของการอักเสบ ความสามารถของผู้ป่วยที่จะใช้ข้อนั้นๆ อายุ การงาน ตลอดจนครอบครัวของผู้ป่วย
ยาที่ใช้รักษาโรคได้แก่ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาที่ทำให้โรคสงบ เช่น สารเกลือทอง(Gold Salt) การผ่าตัดจะใช้แก้ไขความพิการในรายที่เป็นมาก เช่น มีการกดเส้นประสาททำให้เจ็บปวด

ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์

1. การพักผ่อนและการมีกิจกรรมต้องอยู่ในสมดุลย์ วัตถุประสงค์ของการพักผ่อนเป็นหลักสำคัญของโรคข้อเพื่อควบคุมการอักเสบ ลดอาการเหนื่อยล้า พักข้อ แต่ขณะเดียวกันกิจกรรมก็มีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดความพิการ ข้อติดแข็ง ในรายข้ออักเสบรุนแรงต้องพักผ่อนไม่ได้หมายความว่าจะนอนอยู่เฉยๆควรดูกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น การลุกนั่ง ลุกรับประทานอาหาร ไปห้องน้ำด้วยตนเองหากพักมากเกินไปข้อจะติดแข็ง เวลานอนไม่ควรใช้หมอนรองเข้าในท่าเข่างอ
2. ลดอาการปวดข้อด้วยการใช้ความร้อน เช่น ประคบด้วยน้ำอุ่น แต่ถ้ามีเส้นเลือดอักเสบไม่ควรใช้ ขณะที่มีการอักเสบรุนแรงควรใช้น้ำเย็นจะดีกว่า ถ้ามีข้อยึดฝืดควรแช่น้ำอุ่น 15-20 นาทีจะทำให้ทุเลาได้ รับประทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งอาจจะนวดกล้ามเนื้อได้บ้าง
3. ควรปรับกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสมโดยเน้นที่การเคลื่อนไหวได้อิสระ การปรับของใช้ในบ้าน ในที่ทำงานจะช่วยแก้ไขข้อจำกัดของโรคได้ การเลือกเสื้อผ้าแต่งตัวก็ช่วยทำให้หมุนข้อได้ดี การมีเครื่องใช้ในการทำงานบ้าน หลีกเลี่ยงการมีกิจกรรมที่บิดข้อมือให้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่แทน เช่น กระเป๋าสะพานจะดีกว่ากระเป๋าถือ เปิดประตูด้วยแขนดีกว่าใช้ข้อมือ ผู้ป่วยจะต้องรู้จักสังเกตประเมินด้วยตนเองว่า กิจกรรมใดเหมาะสมมากน้อยเพียงใดโดยพิจารณาจากความเจ็บปวดและข้อจำกัดนอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงโรคหัวใจหลอดเลือดและอื่นๆ โดยเฉพาะในวัยสูงอายุกิจกรรมที่ใช้นิ้วประดิษฐ์สิ่งเล็กๆน้อยๆ จะช่วยได้ อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมนั้นต้องเหมาะสมแต่ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงการมีกิจกรรม
4. กายภาพบำบัด ถ้าผู้ป่วยบริหารเองได้จะมีประโยชน์มากกว่าให้ผู้อื่นทำให้เพราะคนอื่นอาจทำแรงเกินไป ท่าที่ใช้ได้แก่ หมุนข้อตามทิศทางที่ข้อเคลื่อนได้ปกติ ท่าพนมมือไหว้แล้วออกแรงดันจะช่วยบริหารข้อไหล่ ข้อแขน ข้อมือ ท่ากายบริการง่ายๆดัดแปลงนำไม่ใช้ได้ ควรทำจังหวะช้าๆ 5-10 รอบ อย่างน้อย 2-3 ครั้งใน 1 วันจึงจะได้ผล แม้ว่าจะรู้สึกฝืดและปวดข้ออย่างมากขณะเริ่มเคลื่อนไหวแต่หากอดทนและเคลื่อนไหวต่อไปทำท่าเดิมซ้ำ 2-3 ครั้ง ติดกันข้อจะปวดน้อยลงขยับได้ดีขึ้นในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ป่วยไม่ยอมเคลื่อนไหวโดยหวังว่าให้หายปวดก่อนจึงจะเคลื่อนไหว ผู้ป่วยอาจจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลยตลอดวันการแช่น้ำอุ่นก่อนเคลื่อนไหวจะลดอาการปวดได้ หรือเคลื่อนไหวข้อต่างๆในที่โล่งมีแสงแดดตอนเช้าจะเป็นประโยชน์มาก
5. การออกกำลังกาย ทำได้ในผู้ป่วยที่มีข้อกำจัดไม่มาก การออกกำลังกายควรเลือกให้เหมาะกับบุคคล ก่อนออกกำลังกายต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายต่างๆ ได้แก่

- เดินช้าๆ โดยสวมรองเท้าที่เหมาะสม
- ถีบจักรยาน
- เต้นรำ
- ตีแรกเก็ตเบาๆ
- ทำงานหนักสลับงานเบา

ผู้ป่วยควรรู้จักประเมินตัวเองว่า ถ้าออกกำลังกายแล้วเจ็บมากอาจต้องหยุดสักระยะหนึ่ง

6. กินยาต้านอักเสบ ต้องกินหลังอาหารทันทีเพื่อลดอาการข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย
7. ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแพทย์จะได้ปรับยาและประเมินกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความพิการที่จะเกิดขึ้น
8. จากการศึกษาวิจัยพบว่า ความเครียดทางอารมณ์มีผลทำให้โรครูมาตอยด์กำเริบได้ การลดความเครียดจึงช่วยควบคุมโรคได้ วิธีที่จะช่วยลดความเครียดโดยการทำใจให้ยอมรับกับข้อจำกัดของโรค เช่น ยอมรับว่าความคล่องตัวจะลดลงบ้างในระยะที่โรคกำเริบ

เนื่องจากโรครูมาตอยด์ เป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรงไม่แน่นอน บางครั้งอาจควบคุมโรคให้สงบได้แต่ก็มีระยะที่โรคกำเริบ ผู้ป่วยจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้จะมีข้อจำกัดของโรคอยู่บ้าง ผู้ป่วยจะต้องปรับตัวเองให้เหมาะสมกับข้อจำกัดและพยายามป้องกันความพิการที่จะเกิดขึ้น

เอกสารอ้างอิง
ฉัฐยา จิตประไพ. (2539). การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคข้อ. ในเสก อักษรานุเคราะห์และคนอื่นๆ (บรรณาธิการ), ตำราเวชศาสตร์ฟื้นฟู. (พิมพ์ครั้งที่3, เล่มที่ 2,หน้า 781 - 788). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เทคนิค.

ประคอง อินทรสมบัติ. (2536). การพยาบาลผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์. ในสมจิต หนุเจริญกุล (บรรณาธิการ), การพยาบาลอายุรศาสตร์เล่าม 3 .(พิมพ์ครั้งที่ 3, ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4, หน้า 119 - 207). กรุงเทพมหานคร :วิศิษ์ฎสิน.

เล็ก ปริวิสุทธิ์. (2538). โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์. ในสุรวิฒิ ปรีชานนท์และสุรศักดิ์ นิลภานุวงศ์ (บรรณาธิการ). ตำราโรคข้อ (หน้า 29 - 46). กรุงเทพมหานคร :เรืองแก้วการพิมพ์

อุทิศ ดีสมโชค. (2534). การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้อ. กรุงเทพมหานคร :จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ที่ปรึกษา ผศ.นพ. กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
ผู้เรียบเรียง จริยา วิรุฬราช

จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร.0-2201-2520-1

ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/78

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook