ต้ม ผัด แกง ทอด ใช้ “น้ำมัน” แบบไหนดีต่อสุขภาพที่สุด?
ใครที่กำลังดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างขะมักเขม้น อาจกำลังตุนน้ำมันมะกอกเอาไว้ที่บ้านเป็นลังๆ แล้วโละเอาน้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันพืชออกจากห้องครัวไป แต่จริงๆ แล้ว Sanook! Health ขอบอกเลยว่าคุณกำลังทำผิดอย่างมหันต์! เพราะใช่ว่าน้ำมันมะกอกจะใช้ประกอบอาหารได้ดีทุกประเภท และน้ำมันหมูจะไม่ดีต่อสุขภาพเสมอไป
น้ำมันแบบไหน ใช้ประกอบอาหารวิธีใดถึงจะดีต่อสุขภาพ มาดูกันค่ะ
1. ทอด
จะทอดหมู ไก่ เนื้อ ปลา หรือแม้กระทั่งผักชุบแป้งทอด กรรมวิธีในการทอดจำเป็นต้องใช้น้ำมันในปริมาณมาก ในความร้อยเดือดระอุ และมักใช้เวลานานกว่าอาหารที่เราทอดจะสุกแบบกรอบนอกนุ่มใน ดังนั้นน้ำมันที่เราใช้ควรเป็นน้ำมันที่เหมาะกับการกักเก็บความร้อนได้ยาวนาน ทนต่อความร้อนได้ดี
น้ำมันที่แนะนำ : น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันปาล์มผสมคาโนล่า น้ำมันรำข้าว และน้ำมันมะกอกเอ๊กซ์ตร้าไลท์ (extra light)
2. ผัด
การผัด คือการทำอาหารลงไปในกระทะ แล้วทำให้สุกด้วยเวลาอันรวดเร็ว ทั้งข้าวผัด ผัดกะเพรา ผัดผักต่างๆ ดังนั้นอาหารที่ใช้ในการผัดมักเป็นอาหารที่สุกไว ชิ้นเล็ก ใช้ความร้อน ปริมาณน้ำมัน และเวลาในการทำไม่นานมาก น้ำมันที่ใช้จึงสามารถเลือกเป็นน้ำมันที่ไม่จำเป็นต้องทนต่อความร้อนสูงมากเท่าตอนทอด
น้ำมันที่แนะนำ : น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก
3. สลัด และน้ำจิ้ม
หากคุณเป็นสายสุขภาพตัวจริง อาจเลี่ยงการทานอาหารประเภท ผัด ทอด เพราะอยากหลีกเลี่ยงไขมันที่ไม่ดีให้มากที่สุด แล้วหันมาทานสลัด หรืออาหารต้มๆ ลวกๆ เคียงข้างด้วยน้ำจิ้ม ซึ่งอาหารประเภทนี้อาจมีส่วนผสมของน้ำมันอยู่ด้วย เพื่อคุณค่าทางสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นตัวทำละลายส่วนผสม และเพิ่มรสชาติที่ดีให้กับอาหาร
น้ำมันที่แนะนำ : น้ำมันมะกอกเอ๊กซ์ตร้าเวอร์จิ้น (extra virgin) และน้ำมันงา
ทั้งนี้ ในการเลือกใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร ถึงแม้ว่าเราจะย้ำว่าไขมันยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่ก็อย่าทานมากจนเกินไปค่ะ ปริมาณที่แนะนำคือ ไม่เกิน 65 กรัม หรือ 13-16 ช้อนชาต่อวันนั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาหารประเภททอดที่ใช้น้ำมันท่วมกระทะ นานๆ ทานได้ แต่อย่าทานบ่อยนะคะ