“กำจัดขนด้วยเลเซอร์” อันตรายหรือไม่

“กำจัดขนด้วยเลเซอร์” อันตรายหรือไม่

“กำจัดขนด้วยเลเซอร์” อันตรายหรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.นพ.วรพงษ์  มนัสเกียรติ 
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


ผิวหนังของคนเราเกือบทุกส่วนจะปกคลุมด้วยเส้นขน ยกเว้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า  เส้นขน มีประโยชน์หลายอย่างแตกต่างกันตามตำแหน่ง เช่น ขนบริเวณลำตัวและแขนขา ช่วยควบคุมระดับอุณหภูมิในร่างกาย  ขนบริเวณหนังศีรษะมีไว้ปกป้องแสงแดดและเพื่อความสวยงาม  ขนบริเวณรักแร้ ลดแรงเสียดสี เป็นต้น  
แต่ในบางครั้งเส้นขนที่ดกดำมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความสวยงามหรือบุคลิกภาพของคุณได้เช่นกัน  เช่น เส้นขนบริเวณหน้าแข้งหรือริมฝีปากของคุณสุภาพสตรี ภาวะความผิดปกติของฮอร์โมนหรือผลข้างเคียงของยาบางประเภทก็สามารถก่อให้เกิดขนขึ้นมากผิดปกติ หรือเกิดขนงอกในบริเวณที่ไม่ควรงอก เช่น โรค Polycystic ovarian syndrome การรับประทานยาประเภทสตีรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท เป็นต้น การกำจัดขนจึงอาจเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบางท่าน 

วิธีกำจัดขนมี  2 วิธี คือ

     1.  กำจัดขนแบบชั่วคราว ได้แก่  การโกน ถอน ใช้ด้ายกระตุกซึ่งวิธีการเหล่านี้ นอกจากต้องทำบ่อย ๆ เพราะความที่เป็นวิธีที่ไม่ถาวรแล้ว  ยังมักก่อให้เกิดปัญหาของรูขุมขนอักเสบ และขนคุดตามมา
     2. กำจัดขนแบบถาวร ในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ 
  
 - วิธี electrolysis คือ การใช้เข็มสอดลงไปที่รากขนทีละเส้นแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าทำลายรากขน  วิธีนี้ค่อนข้างเจ็บและเสียเวลานานมาก เพราะต้องสอดเข็มลงไปที่รากขนทีละเส้น  และมีโอกาสเสี่ยงกับการเกิดแผลเป็นค่อนข้างสูง  เพราะว่าการสอดเข็มลงไปที่รากขนเป็นวิธีการสอดแบบสุ่ม  โดยที่ผู้ทำการรักษาไม่ทราบว่ารากขนอยู่ที่ใด
 
- วิธีใช้แสงความเข้มสูงและเลเซอร์ เป็นวิธีการกำจัดขนโดยอาศัยพลังงานความร้อนจากแสงไปทำลายรากขน  แสงสามารถทำลายรากขนโดยเฉพาะเจาะจง เพราะว่าบริเวณรากขนจะมีเซลล์สร้างสีที่เรียกว่าเมลาโนซัยท์  ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำแสงหรือตัวดูดพลังงานแสงให้มาอยู่เฉพาะบริเวณรากขน


แสงความเข้มสูงและเลเซอร์กำจัดขนได้อย่างไร?

เครื่องกำจัดขนสามารถส่งพลังงานแสงไปที่รากขน เซลล์สร้างสีบริเวณรากขนจะทำหน้าที่ดูดรับพลังงานแสง แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนเพื่อทำลายรากขน
ความรู้สึกระหว่างกำจัดขนด้วยแสงคล้ายกับหนังยางดีดบนผิวหนัง เป็นความรู้สึกซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ทนความรู้สึกได้ บริเวณผิวหนังอ่อน ๆ เช่น ริมฝีปาก  ขาหนีบจะรู้สึกมากกว่าบริเวณอื่น  การทายาชาชนิดครีมก่อนการทำเลเซอร์จะช่วยลดความรู้สึกระหว่างการรักษาได้ นอกจากนี้เลเซอร์หลายชนิดมีระบบให้ความเย็นแก่ผิวหนัง ซึ่งสามารถลดอาการเจ็บระหว่างการรักษาได้


การกำจัดขนด้วยเลเซอร์ใช้เวลานานเท่าใด ?

ระยะเวลาที่ใช้ขึ้นกับตำแหน่ง เช่น บริเวณรักแร้ใช้เวลาเพียง 2-3 นาที  ส่วนบริเวณแผ่นหลังหรือหน้าแข้งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง


การรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านใดบ้าง ?

ผลของการรักษาขึ้นอยู่กับสีของขนและสีผิว โดยทั่วไปเส้นขนสีดำเข้มจะได้ผลดีกว่าเส้นขนสีอ่อน คนผิวขาวมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าคนผิวคล้ำ 


การกำจัดขนด้วยแสงต้องทำกี่ครั้ง ?

การกำจัดขนด้วยแสงจะทำลายเส้นขนประมาณ 15%-30% ภายหลังการรักษา 1 ครั้ง โดยทั่วไปต้องรักษาประมาณ  5-8 ครั้ง การรักษามักทำทุก 4-6 สัปดาห์


ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรภายหลังการทำ?

ผิวหนังบริเวณรอบรูขุมขนจะแดงและบวมเล็กน้อยภายในระยะเวลา 30 นาทีภายหลังการรักษา ซึ่งอาการนี้จะหายไปเองภายในเวลา 1 วัน การประคบด้วยความเย็นจะช่วยลดอาการแสบร้อนได้  ผิวหนังภายหลังการรักษาจะไม่เกิดแผล ไม่มีเลือดออก และไม่จำเป็นต้องปิดแผล


ควรดูแลรักษาอย่างไรภายหลังการกำจัดขน ?

ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประวันได้ปกติ ควรยกเว้นการใช้สบู่หรือครีมที่ระคายเคืองที่ผิวหนัง เช่น  Retin-A, AHA  ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ปกติ  ควรหลีกเลี่ยงการออกแดด และควรใช้ครีมทากันแดดในบริเวณที่ได้รับการรักษา


เส้นขนภายหลังการรักษาเป็นอย่างไร ?

เส้นขนจะค่อยๆ ถูกดันให้หลุดออกจากผิวหนังภายใน 2 สัปดาห์ หลังการรักษา


ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนทำเลเซอร์ ?

ภายใน 1 สัปดาห์ก่อนทำเลเซอร์ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็น  ไม่ควรถอนหรือแว็กซ์ขน หากจำเป็นอาจใช้วิธีโกน แต่ควรหยุดโกนขนภายในระยะเวลา 2-3 วัน ก่อนการทำการรักษา


สำหรับที่ศิริราช กำลังจะเปิด “ศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง” ที่ให้บริการรักษากำจัดขน โดยใช้แสงความเข้มสูง (Intense Pulsed Light; ไอพีแอล)..ที่มีประสิทธิภาพดีในการกำจัดขนและมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่  หน่วยตรวจโรคผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราช  ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 4  โทร. 0 2419 7380-7381

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook