วัณโรคปอด อาการ และการติดต่อของโรควัณโรคปอด พร้อมวิธีรักษา

วัณโรคปอด อาการ และการติดต่อของโรควัณโรคปอด พร้อมวิธีรักษา

วัณโรคปอด อาการ และการติดต่อของโรควัณโรคปอด พร้อมวิธีรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง จริยา วิรุฬราช

วัณโรคปอด เป็นโรคระบาดที่ทำลายชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ ต่อมาเมื่อค้นพบยารักษาวัณโรคจึงสามารถควบคุมได้ แต่ในระยะ 10 กว่าปีมานี้ วัณโรคกลับระบาดและทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศยากจน คาดว่ามีประชากรหนึ่งในสามติดเชื้อวัณโรคและเสียชีวิตเกือบล้านคนต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง โดยก่อนนี้การป่วยเป็นวัณโรคของผู้ใหญ่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้นประมาณปี 2543 กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีความร้ายแรงขึ้นมาก ทั้งนี้เนื่องจากระบาดของเชื้อเอดส์ จึงทำให้วัณโรคแม้จะดูเป็นโรคธรรมดาแต่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ วัณโรคปอดเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ทุเบอร์เคิล แบซิลลัส นอกจากทำให้เกิดวัณโรคแล้วยังสามารถเกิดวัณโรคกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ลำไส้ ผิวหนัง แต่ร้อยละ 80 จะเกิดขึ้นที่ปอด เชื้อวัณโรคมีความทนทานมาก จึงอยู่ได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหาร อาการ แช่อยู่ในน้ำแข็งได้เป็นร้อยวัน ทนความร้อน สารเคมี และอยู่ในที่มืดได้ถึงครึ่งปี แต่ไม่ทนแสงแดดจึงมักจะตายอยู่ในแสงแดด


อาการไอ โรควัณโรคปอดอาการไอ โรควัณโรคปอดการติดต่อของโรควัณโรคปอด

เชื้อซึ่งอยู่ในปอดของผู้ป่วยจะออกมาอยู่ในบรรยายกาศขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม บ้วนน้ำลาย ขากเสมหะ เมื่อเสมหะแห้งจึงฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ดังนั้นจึงติดต่อได้ทั้งการสูดเชื้อเข้าไปในปอดหรือการสัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อ เนื่องจากเชื้อวัณโรคปอดแพร่กระจายทางเดินหายใจมากที่สุด จึงพบเชื้อโรคได้ทั้งในบริเวณที่มีผู้ป่วยอยู่ บริเวณที่มีผู้คนพลุกพล่าน หนาแน่นหรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า โรงพยาบาล ห้องที่อับ เป็นต้น คนส่วนใหญ่จึงเคยสัมผัสเชื้อวัณโรคมาแล้วเกือบทั้งนั้น การจะป่วยเป็นวัณโรคหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้

  1. สภาวะร่างกาย ความแข็งแรงของแต่ละบุคคล คนที่อ่อนแอ เช่น เด็กเล็กๆ ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรงเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ผู้ที่มีสุขภาพทรุดโทรม เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเอดส์หรือผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกันจะเป็นวัณโรคง่ายกว่าคนแข็งแรง
  2. ปริมาณเชื้อที่ได้รับ คนที่อยู่บริเวณที่มีเชื้อมาก โอกาสเสี่ยงสูงกว่าคนที่อยู่บริเวณที่มีเชื้อน้อย

อาการของวัณโรคปอด

อาการในระยะแรกจะสังเกตได้ยากเพราะเกิดขึ้นช้าๆ เป็นทีละเล็กละน้อย ผู้ป่วยจึงไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค อาการที่พบได้คือ

  1. มีไข้เรื้อรังต่ำๆ จนอาจไม่ได้สังเกต มักจะเป็นตอนเย็นหรือตอนบ่าย
  2. เหงื่อออกตอนกลางคืน
  3. อ่อนเพลียเป็นประจำแม้ว่าจะพักผ่อนเพียงพอ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  4. ไอเรื้อรังแห้งๆ นานเป็นเดือน อาจไอน้อยหรือมากก็ได้ แต่เมื่อเป็นหนักขึ้นอาจไอเสียงดังโขลกๆมีเสมหะด้วย อาจรู้สึกเจ็บชายโครงเวลาไอ จะมีไอปนเลือดได้ในกรณีที่โรคลุกลามไปที่หลอดเลือดปอด
  5. อาการแทรกซ้อนอาจพบได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในปอดมีน้ำในช่องหุ้มปอด และหากเชื้อแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆ ก็จะกลายเป็นวัณโรคของอวัยวะนั้นๆ

การวินิจฉัย

  • อาการและอาการแสดงดังกล่าวแล้ว
  • ย้อมเสมหะ เป็นวิธีง่ายได้ผลเร็วแต่ต้องเก็บอย่างถูกวิธีและต้องเป็นเสมหะที่ไอจากหลอดลมส่วนลึก
  • เอกซเรย์ปอด
  • วิธีอื่นๆ เช่น การเพาะดูเชื้อ ทดสอบความไวของเชื้อ ตรวจชิ้นเนื้อซึ่งอาจทำเป็นเพียงบางรายแล้วแต่ดุลพินิจของแพทย์

การรักษาวัณโรคปอด

วัณโรค รักษาด้วยยาซึ่งมีหลายชนิด ส่วนใหญ่แพทย์มักใช้ร่วมกัน ตัวอย่างยาที่รักษา เช่น Isoniazid Rifampicin Pyracinamide Ethambutol Streptomycin ระยะเวลาในการให้ยาอย่างน้อยที่สุด 6 เดือน ถึง 2 ปีครึ่ง แม้วัณโรคจะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ก็สามารถกลับเป็นซ้ำได้เช่นกัน ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญในการรักษาคือ รักษาให้หายขาดเพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ มีบ้างแต่น้อย เช่น รักษาด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีรอยโรคเฉพาะตำแหน่งหรือรับประทานยาแล้วมีผลข้างเคียงสูง

การรักษาผู้ป่วยวัณโรคไม่ได้ผล เนื่องจาก

  1. ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบตามกำหนด (เป็นสาเหตุสำคัญ) เชื้อจึงดื้อยา
  2. ติดเชื้อวัณโรคชนิดที่ดื้อต่อยาวัณโรคหลายชนิดปัจจัยร่วมอื่นๆ เช่น รับประทานยาไม่ถูกต้อง (ไม่เพียงพอ / ไม่ครบ 5 หมู่ / ไม่ถูกสุขลักษณะ) เครียด เป็นต้น

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค

  1. ต้องรับประทานยาให้ครบตามแพทย์กำหนด อาจเป็นเวลา 6 เดือน ถึง 2 ปีครึ่ง หลังได้ไปแล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้น ไข้ลดลง ไอน้อยลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยมักเข้าใจผิดว่าหายแล้วจึงไม่รับประทานยาต่อซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง การรับประทานยาไม่ครบตามกำหนด นอกจากจะไม่หายแล้วยังทำให้เชื้อดื้อยาจนอาจกลายเป็นวัณโรคเรื้อรังรักษายากขึ้นหรือรักษาไม่ได้เลย
  2. ก่อนได้รับการรักษาผู้ป่วยควรแยกห้องนอนและหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น หลังรับประทานยาไปแล้ว 2 อาทิตย์ จึงอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ
  3. ขณะไอหรือจามต้องใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก บ้วนเสมหะลงในภาชนะที่มีน้ำยาทำลายเชื้อ เช่น ไลโซลแล้วนำไปทิ้งในส้วมหรือขุดหลุมฝัง จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  4. ดูแลร่างกายให้แข็งแรงเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน โดยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เมื่อแข็งแรงดีแล้วจึงออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสม
  5. ควรอยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้องที่อยู่ถ้าเลือกได้ควรเป็นห้องอาการโปร่ง มีหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก
  6. ควรนำที่นอนผึ่งแดดบ้าง และที่นอน เสื้อผ้า ดูแลอย่าให้มีฝุ่นเพราะจะกระตุ้นให้ไอได้

ในน้ำนมวัวที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์จะพบเชื้อวัณโรค จึงสามารถติดต่อทางระบบทางเดินอาหารได้

ข้อแนะนำสำหรับผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย

  1. กรณีสงสัยว่าจะเป็นวัณโรคปอด (ดังอาการที่กล่าวข้างต้น) ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
  3. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อช่วยให้ภูมิต้านทานได้ดีขึ้น โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เมื่อใดที่ร่างกายทรุดโทรมเชื้อที่หลบซ่อนอยู่ในร่างกายจะกำเริบกลายเป็นวัณโรค
  4. ผู้ที่ทดสอบทูเบอร์คุลินได้ผลลบ อาจฉีดวัคซีนบีซีจีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนบีซีจีให้เด็กแรกเกิดทุกคน แต่สำหรับผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เคยสัมผัสเชื้อมาแล้วเกือบทั้งนั้น แต่ที่ไม่เป็นโรคเพราะมีสุขภาพแข็งแรง การฉีดวัคซีนบีซีจีจึงไม่จำเป็น

 
เอกสารอ้างอิง
นิธิพัฒน์ เจียรกุล. (2546). วัณโรคดื้อยาหลายชนิด, วารสารวัณโรค ปีที่ 24 (2), หน้า 95-99
บัญญัติ ปรัชญานนท์ ชัยเวช นุชประยูร และสงคราม ทรัพย์เจริญ. (2542).วัณโรค. (พิมพ์ครั้งที่ 4, ฉบับปรบปรุง) ม.ป.ท.
สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย. (2538). วัณโรคปอด. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สยมพร ศิรินาวิน และศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์. (2545). โรคติดต่อ. กรุงเทพฯ : โหลทองมาสเตอร์พริ้นท์.
สราญจิตต์ กาญจนาภา. (2540). วัณโรค. งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. แผ่นพับ. 

ออกแบบโดย : งานการศึกษาต่อเนื่อง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร. 0-2201-2256-7
จัดทำโดย: หน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร.0-2201-2520-1

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook