7 วิธีการหลีกเลี่ยงอาการ "นอนกรน"

7 วิธีการหลีกเลี่ยงอาการ "นอนกรน"

7 วิธีการหลีกเลี่ยงอาการ "นอนกรน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การกรน (Snoring) เกิดจากกล้ามเนื้อคอคลายตัวขณะหลับจนทำให้ช่องคอแคบลง ซึ่งส่งผลให้ต้องหายใจเข้าออกแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทางเดินหายใจแคบลงจนถึงจุดหนึ่ง ความแรงของลมหายใจที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อภายในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีเสียงกรนตามมา นอกจากนี้การกรนยังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดการปิดกั้นของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอ หรืออาจเกิดจากสารหล่อลื่นในระบบทางเดินหายใจลดลง ทำให้เกิดอาการแห้ง และบวม ทางเดินหายใจจึงแคบลง เมื่อหายใจจึงเกิดเป็นเสียงกรน

ผู้ชายมีอัตราการนอนกรนมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะคนอ้วน ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบ ผู้ที่ทำงานหักโหม หรือออกกำลังกายมากเกินไป นอกจากนี้การดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด กินยานอนหลับก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กรนได้ หากช่องคอแคบลงอีกเรื่อยๆ ก็จะส่งผลให้เกิดการอุดตันในช่องคอแบบชั่วคราว ทำให้ลมหายใจเข้าออกขาดหายไปชั่วขณะ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหากใครมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะหากปล่อยเอาไว้อาจเป็นบ่อเกิดของโรคอื่นๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด อัมพาต ตลอดจนทำให้มีปัญหากับคนใกล้ชิด 

7 วิธีเลี่ยงเสียงกรน

  1. ควบคุมน้ำหนัก ความอ้วนเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของอาการนอนกรน เพราะไขมันที่สะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจบริเวณคอ ถูกเบียดให้เล็กลง รวมทั้งไขมันที่หน้าอกและท้องก็ยังเป็นภาระให้ร่างกายต้องหายใจหนักขึ้น และใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น

  2. ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ดึงรั้งช่องทางเดินหายใจมีความแข็งแรงขึ้น ขณะที่นอนหลับเนื้อเยื่อภายในปากจะได้ไม่หย่อนลงมาจนขัดขวางช่องทางเดินหายใจ

  3. จัดท่านอน พยายามจัดท่านอน เพื่อป้องกันการหายใจทางปาก โดยการนอนตะแคงงอข้อศอก เพื่อให้มือข้างหนึ่งยันคางไว้เป็นการปิดปาก หรืออาจใช้หมอนหนุนหลังเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พลิกมานอนหงาย อาจฝึกด้วยการนอนในที่แคบๆจนเคยชินก็ได้ หรือจะลองใช้ลูกเทนนิสสอดไว้ในเสื้อนอนด้านหลัง ความไม่สบายนี้จะช่วยเตือนให้คุณหลับในท่าตะแคงได้โดยตลอด

  4. ยกศีรษะให้สูงขึ้น ถ้านอนตะแคงไม่ได้จริงๆ ให้นอนหงายแล้วใช้หมอนเล็กๆ หนุนที่บริเวณหลังคอด้านบน ยกศีรษะให้สูงจากเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหย่อนลงไปในลำคอจนเกิดเสียงกรนได้

  5. รักษาที่นอนให้สะอาด พยายามกำจัดปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดหอบหืด ภูมิแพ้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการกรน เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์

  6. พยายามอย่าให้มีขี้มูกก่อนนอน จะช่วยให้ช่องจมูกเปิดโล่ง ลมเข้าออกได้อย่างสะดวก

  7. เพิ่มระดับความชื้นในห้องนอน เพราะการนอนในห้องที่มีความชื้นต่ำมาก อากาศภายในห้องจะแห้ง ทำให้เยื่อบุต่างๆในระบบทางเดินหายใจพลอยแห้งตามไปด้วย บางรายอาจเกิดอาการบวมและทางเดินหายใจตีบแคบลง จนเกิดอาการนอนกรนในที่สุด

ใครที่ทำตามเคล็ดลับดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ผล หรืออาการนอนกรนส่งผลกระทบต่อชีวิตมากเกินไป แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางนะคะ รับรองว่าคุณหมอช่วยได้แน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook