โรคไวรัสตับอักเสบ

โรคไวรัสตับอักเสบ

โรคไวรัสตับอักเสบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคไวรัสตับอักเสบ

โรคไวรัสตับอักเสบ มีสาเหตุมาจากไวรัสหลายชนิดคือ เอ บี ซี ดี อี ไวรัสกลุ่มนี้ชอบอาศัยอยู่ในเซลล์ตับ ทำให้เกิดตับอักเสบ เซลล์ตับถูกทำลาย เมื่อตับถูกทำลายมากจะกลายเป็นเนื้อเยื่อพังผืดและอาจกลายเป็นตับแข็งหรือกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด

หน้าที่ของตับ ตับเป็นอวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุด อยู่บริเวณชายโครงขวา มีหน้าที่สำคัญคือ เปลี่ยนสารพิษหรือยาต่างๆ ที่กินเข้าไปให้ไม่มีพิษ สร้างน้ำดีช่วยย่อยไขมัน สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด สร้างเม็ดเลือดแดงในเด็กและเก็บพลังงาน

โรคไวรัสตับอักเสบเกิดได้อย่างไร

โดยทั่วไปเมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะสามารถกำจัดเชื้อได้และจะหายเอง (อาจใช้ระยะเวลานานประมาณ 6 เดือน) มีบางรายร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมด เชื้อจึงอยู่ในเลือดอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอาการ ซึ่งเรียกว่าพาหะ บางรายมีการอักเสบและมีการทำลายของเซลล์ตับไปเรื่อยๆเรียกว่า “ตับอักเสบเรื้อรัง”

โรคไวรัสตับอักเสบมีอาการและอาการแสดงอย่างไร ไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดจะมีอาการคล้ายคลึงกัน คือ

1. ไม่มีอาการหรืออาการแสดงอะไรเลยหลังจากได้รับเชื้อ
2. มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดข้ออยู่ 2-3 วัน เป็นแล้วหายได้เอง อาจมีอาการกดเจ็บที่ตับ บางรายมีอาการตัวตาเหลืองร่วมด้วย ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าเป็นตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเมื่อเป็นแล้วโดยส่วนใหญ่จะหายไปในเวลา 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพทั่วไป กรณีไวรัสตับอักเสบชนิดบีนั้น บางรายอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งเป็นอาการเด่นที่ทำให้มาพบแพทย์และจะตรวจพบเอนไซม์ตับสูง
3. ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง บางรายอาการรุนแรงมาก ตัวตาเหลืองไม่หายแต่กลับเป็นมากขึ้น อุจจาระมีสีซีด คันตามตัว อ่อนเพลีย ปวดท้อง ถ้าได้รับเชื้อมากอาจมีอาการรุนแรงคือ ท้องและขาบวม พูดเลอะเลือน เพ้อ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาเป็นเดือนในการรักษาให้ดีขึ้น

คนที่สบายดีตรวจพบว่าเป็นพาหะอย่าเพิ่งตกใจ ควรปรึกษาแพทย์/พยาบาล เพื่อเจาะเลือดประเมินค่าเอนไซม์ อาจบอกภาวะได้ชัดเจนว่า มีตับอักเสบเฉียบพลัน เรื้อรังหรือเป็นพาหะนำเชื้อ ซึ่งควรได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเองหรือจัดการแก้ไข

โรคไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด

ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ เชื้อจะอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย จึงอาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่ไม่สะอาด อาหารสุกๆ ดิบๆ ผักสดที่ล้างไม่สะอาด และติดต่อทางอาหารและน้ำดื่มได้ดังนั้นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอสูงคือ กลุ่มที่มีสุขอนามัยหรือการสุขาภิบาลไม่ดี ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก กองทหาร เป็นต้นผู้ได้รับเชื้อมีโอกาสหายขาดเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่กลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ในปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันแต่ยังมีราคาสูง

ไวรัสตับอักเสบชนิดบี เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 9 ของโลก ในประเทศไทยเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดตับอักเสบเรื้อรัง เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีมีผนังหุ้มตัวเอง ตายยาก สามารถหลบอยู่ในเซลล์ของตับ ดื้อยา ในอากาศภายนอกมีชีวิตอยู่ได้เป็นเดือน อยู่ในตู้เย็นได้เป็นปี ผู้ได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสเป็นโรค (มีโอกาสกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังร้อยละ 10)

การติดต่อ ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดจากมารดาสู่บุตรขณะคลอด ทางการสัมผัสน้ำคัดหลั่งเช่น เลือด น้ำลาย ดังนั้นคนที่เสี่ยงในการสัมผัสเลือดหรือน้ำคัดหลั่งที่มีเชื้อ เช่น ผู้ที่ใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ร่วมกัน ผู้ได้รับเลือดมีโอกาสเป็นโรคสูง บางรายติดโดยไม่ทราบสาเหตุ

การป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี

ในหญิงตั้งครรภ์ที่เจาะเลือดพบไวรัสตับอักเสบชนิดบี ต้องมาพบแพทย์ตามนัด หลังคลอดแพทย์จะฉีดภูมิคุ้มกันโรคให้ทารกและจะฉีดเป็นระยะๆ การฉีดมี 2 แบบ คือ ฉีดเมื่อแรกเกิด 1 เดือน และ 6 เดือน หรือฉีดเมื่อแรกเกิด 1 เดือน 2 เดือน และ 12 เดือน แล้วแต่ชนิดของวัคซีน ต้องฉีดให้ครบ ทารกจึงจะมีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้ดี หลังคลอดมารดาสามารถให้นมบุตรได้ สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี และต้องการรับภูมิคุ้มกัน ให้เจาะเลือดดูภูมิคุ้มกันก่อน ถ้ามีภูมิคุ้มกันแล้วก็ไม่ต้องฉีดวัคซีน แต่ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันจะฉีดครั้งแรก อีก 1 เดือน และอีก 6 เดือนต่อมา (0, 1, 6)

ไวรัสตับอักเสบชนิดซี ระบาดมากในอเมริกา แต่ในระยะ 10 ปีนี้พบในประเทศไทยมากขึ้น ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีมักไม่ค่อยมีอาการ ส่วนใหญ่พบจากการตรวจสุขภาพทั่วไป จึงนับเป็นภัยเงียบ ผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบซีสามารถกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังถึงร้อยละ 85 การติดต่อเหมือนไวรัสตับอักเสบชนิดบี แต่ทางเพศสัมพันธ์พบน้อย มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ติดเชื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ ไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงต้องป้องกันโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

ไวรัสตับอักเสบชนิดดี จะไม่เกิดเองตัวเดียวโดดๆ จะเกิดร่วมกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดบีอยู่แล้ว เมื่อเกิดไวรัสตับอักเสบดีร่วมอาการจะรุนแรงขึ้น การติดต่อเหมือนไวรัสตับอักเสบชนิดบี

ไวรัสตับอักเสบชนิดอี มีลักษณะคล้ายไวรัสตับอักเสบชนิดเอ แต่รุนแรงน้อยกว่าและหายเร็วกว่า แต่ถ้าพบในหญิงตั้งครรภ์อาการจะรุนแรงและอันตรายโดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนท้ายก่อนคลอด

ความรุนแรงของไวรัสตับอักเสบแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

- เพศ เพศชายจะมีโอกาสเป็นมะเร็งในตับมากกว่าเพศหญิง
- อายุ ผู้ที่เป็นตับอักเสบตั้งแต่วัยเด็ก การพยากรณ์โรคจะไม่ดี
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงร่วม เช่น ใช้เข็มยาเสพติด รับประทานยาหลายชนิดที่มีผลต่อตับ อาการจะเลวลง ในทางตรงข้ามผู้ที่แข็งแรง มีภูมิต้านทานดีเมื่อได้รับเชื้อ ร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อได้

การรักษา

การรักษาในปัจจุบันคือการรักษาในไวรัสตับอักเสบบีและซีภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยารักษาเป็นยาฉีดชื่ออินเตอร์เฟอร์รอน (Interferon) ยานี้จะช่วยลดจำนวนไวรัส ช่วยลดการอักเสบของตับ และทำให้สภาพเนื้อตับดีขึ้น และต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ยาก็มีผลข้างเคียงที่ต้องพึงระวังมาก แพทย์จะเลือกใช้เฉพาะกับผู้ป่วยที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังแล้วเท่านั้น โรคไวรัสตับอักเสบส่วนมากจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างคนปกติ มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นตับอักเสบเรื้อรังข้อปฏิบัติตัวของผู้ป่วยมีความสำคัญในการป้องกันการดำเนินของโรค บางรายอาจไม่มีอาการกำเริบเลยตลอดชีวิต

ข้อปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยในขณะตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง

1. เพื่อให้ตับทำงานน้อยลง ต้องพักผ่อนอย่างจริงจังในระยะที่มีอาการและ ไม่ควรออกกำลังกาย
2. รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ดูดซึมง่าย เช่น อาหารประเภทข้าว ของหวาน เป็นต้น แม้จะเบื่ออาหารควรฝืนใจเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น รับประทานเนื้อสัตว์ได้แต่ไม่ควรเป็นเนื้อติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน เพราะทำให้ท้องอืด
3. งดดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
4. หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเองเพราะจะเป็นอันตรายต่อตับ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นพาหะ

1. ทำงานได้ตามปกติ

2. ตรวจเลือดซ้ำหลังการตรวจครั้งแรก 3-6 เดือน

3. งดสูบบุหรี่และดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

4. ไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยไม่มีความจำเป็น

5. ดูแลรักษาสุขภาพตามปกติคือ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ควรหลีกเลี่ยงอาหารมันๆ ออกกำลังกายได้แต่ไม่ควรหักโหมหรือออกแรงมาก ไม่ควรเล่นกีฬาที่ต้องแข่งขัน

6. รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล โดยใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน งดใช้เครื่องใช้ส่วนตัวหรือของมีคมร่วมกับผู้อื่น

7. ฉีดวัคซีนให้คู่สมรสและบุตรของผู้เป็นพาหะ (กรณีที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน)

8. งดบริจาคเลือดและอวัยวะต่างๆ ตลอดจนน้ำอสุจิที่ใช้ผสมเทียม

9. ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ กรณีที่ไปรับการตรวจรักษาหรือทำฟัน

10. ควรพบแพทย์ ตรวจสุขภาพเป็นระยะ

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ

1. รับประทานอาหารที่สุกสะอาด ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และหลังออกจากห้องน้ำ
2. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น เช่น กรรไกรตัดเล็บ มีดโกน ฯลฯ
3. ให้แยกซักเสื้อผ้าของผู้ป่วย อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด อาเจียนเทลงส้วม ในกรณีทีมีผู้ป่วยที่อยู่ในระยะตับอักเสบอยู่ในบ้าน
4. ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดบี
5. ตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบก่อนที่จะสมรส
6. กรณีตั้งครรภ์ ฝากครรภ์เสียแต่เนิ่นๆ
7. ฉีดวัคซีนป้องกันกรณีที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน

เอกสารอ้างอิง

ชมรมตับอักเสบแห่งประเทศไทย (ม.ป.ป.).ไวรัสตับอักเสบมฤตยูเงียบ.เชอริง-พราว จำกัด.

ทวีศักดิ์ แทนวันดี.(ม.ป.ป.).โรคตับอักเสบจากไวรัสซี. เชอริง-พราว จำกัด.

ยง ภู่วรรณ.(2539).ไวรัสตับอักเสบและการป้องกัน. กรุงเทพฯ : ชัยเจริญ.

สมพนธ์ บุณยคุปต์.(2538).ตับอักเสบ. งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี.แผ่นพับ.

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
เรียบเรียง จริยา วิรุฬราช
ที่ปรึกษา รศ. ประคอง อินทรสมบัติ

จัดทำโดย หน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520-1

ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/83

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook