อันตราย! GHB ยาเสียสาว คืออะไร? หลีกเลี่ยงอย่างไร?
ในละครไทย ฉากที่ตัวร้ายต้องการจะปลุกปล้ำนางเอก มักมีการวางกลอุบายให้นางเอกทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ยาอะไรลงไปสักอย่าง ทำให้นางเอกไม่ได้สติ จนในที่สุดตัวร้ายก็พาขึ้นห้องจนได้ (แต่มักจะมีพระเอกมาช่วยไว้ได้ทัน)
ในทางกลับกัน ฉากแบบนี้ในชีวิตจริง ไม่มีพระเอกขี่ม้าขาวคนไหนมาช่วยไว้ได้ทันแน่นอน ดังนั้นนางเอกอย่างเราๆ คงโดนกระทำมิดีมิร้ายจากเจ้าโจรใจทรามอย่างแน่นอน เจ้ายาตัวนั้นมันคือยาอะไร ลักษณะเป็นอย่างไร มีวิธีใช้อย่างไร และมีวิธีหลีกเลี่ยงอย่างไร เรามาทำความรู้จักเจ้ายาอันตรายตัวนี้กันค่ะ
GHB ยาเสียสาว ยาเสียหนุ่ม
GHB เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นยาเสียตัว (ทั้งชาย และหญิง) เพราะมักถูกนำไปใช้เพื่อมอมเมาเหยื่อให้ไม่มีสติ มึนงง จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
GHB คืออะไร?
GHB หรือ Gamma-hydroxybutyrate (ในยุโรปรู้จักกันในชื่อ Gamma-OH ในอเมริกาเรียกว่า GHB) จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 GHB เป็นสารที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย จึงพบได้ทั่วไปในเซลล์ของมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ลักษณะของ GHB
GHB ที่นิยมใช้มักจะอยู่ในรูปของเกลือโซเดียม รูปแบบที่ใช้อาจเป็นผง เม็ด แต่ส่วนใหญ่จะใช้อยู่ในรูปของสารละลายที่ละลายในน้ำ มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีรสเค็ม และมักจะรู้จักกันในชื่อ Liquid ecstacy, Liquid E, Liquid X หรือ Blue Verve
ฤทธิ์ของ GHB
การออกฤทธิ์ของ GHB จะกดประสาทในระยะแรก ลดอาการวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับ และทำให้สลบ (ขึ้นอยู่กับขนาดของยาที่ใช้) แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะกลับรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ไม่เกิดอาการเมาค้างเช่นเดียวกับที่เกิดจากการใช้ยากดประสาทโดยทั่วไป
ร่างกายดูดซึม GHB ได้ดีเมื่อให้โดยการรับประทาน ระยะเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ 5 - 20 นาที ระยะเวลาในการออกฤทธิ์นาน 1.5-3 ชั่วโมง ภายหลังจากการฉีด GHB ไปแล้ว 4-5 ชม. จะไม่สามารถตรวจพบ GHB ในปัสสาวะ
ประโยชน์ของ GHB
ในทางการแพทย์ใช้ GHB ที่สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นยาสลบ ยานอนหลับ ยารักษาภาวะง่วงหลับ (narcolepsy) ใช้สำหรับช่วยในการคลอด ตลอดจนใช้รักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
นอกเหนือไปจากทางการแพทย์ ยังมีการใช้ GHB เพื่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อด้วย เนื่องจาก GHB มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการหลั่งของ โกรทฮอร์โมน หรือฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโต และกระตุ้นกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนของร่างกาย
อันตรายของ GHB
ภายหลังการใช้ยานี้แล้วยังทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกสบาย เกิดภาวะคล้ายผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ มีความเคลิบเคลิ้มเป็นสุขและช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ซึ่งฤทธิ์ยาในลักษณะดังกล่าว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้ยาเบี่ยงเบนวัตถุประสงค์ของการใช้ยาไปในทางที่ผิดได้
ถึงแม้อาการอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจาก GHB เป็นอาการที่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการง่วงนอน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เคลื่อนไหวลำบาก แต่ในขนาดยาที่สูงมาก อาจทำให้เกิดการกดการทำงานของหัวใจ กดการหายใจ ชักและหมดสติ
การใช้ GHB โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นใช้ในขนาดที่สูงมาก หรือใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์และยากดประสาทชนิดอื่น ๆ จะทำให้เกิดการชัก การหายใจถูกกดและหมดสติได้ นอกจากนี้ขนาดยาที่ทำให้ถึงระดับการออกฤทธิ์ในแต่ละบุคคล อาจจะแตกต่างกันมากจนไม่อาจจะคาดหมายได้ การนำยามาใช้ในทางที่ผิดโดยไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
จากข้อมูลการใช้ยาในทางที่ผิดในต่างประเทศ พบว่าในปัจจุบันได้มีการนำ GHB มาใช้ทดแทน ยาอี หรือ ecstacy (3,4-Methylen-edioxymethamphetamine, MDMA) เนื่องจากมีฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกันคือ ทำให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกพึงพอใจกับการถูกสัมผัส และมีความรู้สึกเคลิบเคลิ้มเป็นสุข โดยจะเตรียมอยู่ในรูปสารละลายบรรจุอยู่ในขวดเล็กๆ ( ประมาณ 30-50 มล.) ขนาดยาสำหรับการเสพแต่ละครั้งใช้ตวงจาก 1 ฝาของขวด
อย่างไรก็ตาม GHB เป็นยาเสพติดที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง ผู้เสพ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท - 100,000 บาท (มาตรา 106 ตรี) ผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท - 400,000 บาท (มาตรา 89)
เมื่อทราบกันอย่างนี้แล้ว หนุ่มๆ สาวๆ ก็ไม่ควรรับอาหาร และเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า หรือคนรู้จักที่ไม่น่าไว้ใจนะคะ ไปทานอาหารกับใคร เมื่อลุกไปเข้าห้องน้ำแล้ว กลับมาที่โต๊ะก็ควรเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนเครื่องดื่มด้วย และที่สำคัญ หากจำเป็นต้องไปไหนกับใครที่ไม่สนิทด้วย 2 ต่อ 2 ควรพาเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วยอีกคนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก กลุ่มวิจัยและพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ภาพประกอบจาก istockphoto