ทำไม? กินสับปะรดแล้วถึง “แสบลิ้น”

ทำไม? กินสับปะรดแล้วถึง “แสบลิ้น”

ทำไม? กินสับปะรดแล้วถึง “แสบลิ้น”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้ทานผลไม้บ่อยขึ้น และหลากหลายมากขึ้นค่ะ โดยเฉพาะสับปะรด เพราะมีประโยชน์มากมายที่เราคาดไม่ถึง (อ่าน 10 ประโยชน์ที่คุณอาจไม่รู้ของ “สับปะรด” ที่นี่) แต่พอทานไปได้สักพัก เริ่มรู้สึกคันๆ แสบๆ ที่ลิ้น หรือริมฝีปากขึ้นมาเสียอย่างนั้น ทำไมถึงมีอาการเช่นนี้ Sanook! Health จึงนำคำตอบจากรายการ Did You Know? คุณรู้หรือไม่? มาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ

 

                                                               

 

สับปะรด สารอาหารมากมาย

นอกจากสับปะรดจะมีรสชาติดีถูกใจใครหลายคนแล้ว ยังมีสารอาหารที่ดีต่อร่างกายมากมายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 กรดโฟลิค แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก และแมกนีเซียมอีกด้วย

 

กินสับปะรดแล้ว “แสบลิ้น”?

สาเหตุที่เรากินสับปะรดเข้าไปแล้ว รู้สึกแสบๆ คันๆ ที่ลิ้น ก็เป็นเพราะว่า สัปปะรดมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า “บรอมีเลน” ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยสลายโปรตีน ไม่ให้โปรตีนตกค้างในลำไส้ และที่ลิ้นของเราก็มีโปรตีนตามธรรมชาติเคลือบอยู่ ดังนั้นเอนไซม์บรอมีเลนจึงทำการย่อยโปรตีนบนลิ้นของเรานั่นเอง

แต่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะเมื่อเราหยุดทานสับปะรดไปสักพัก ลิ้นของเราก็จะสร้างโปรตีนขึ้นมาเคลือบผิวลิ้นใหม่ ทำให้อาการแสบๆ คัน ที่ลิ้นหายไปได้เองในชั่วเวลาสั้นๆ ค่ะ

 

เคล็ดลับกินสับปะรดอย่างไรไม่ให้แสบลิ้น

นำสับปะรดหั่นชิ้นไปแช่น้ำเกลืออ่อนๆ ราว 2-3 นาทีก่อนทาน หรืออาจจะจิ้มเกลือทานสดๆ โดยตรงเลยก็ได้ (แต่อาจได้ผลดีไม่เท่าการแช่ลงไปในน้ำเกลือ) แค่นี้ก็จะช่วยลดอาการแสบคันที่ลิ้นขณะกินสับปะรดได้แล้วล่ะค่ะ

เกลือจะเข้าไปช่วยลดความเข้มข้นของเอนไซม์ บรอมีเลน ที่ว่า ทำให้เอนไซม์ดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั่นเอง

แต่ทว่า... ใครที่อยากทานสับปะรดเพื่อช่วยย่อยอาหาร อาจจะทานแบบนี้ไม่ได้นะคะ เพราะจะทำให้สับปะรดย่อยอาหารได้ไม่เต็มที่เหมือนเคยเช่นกัน

 

สุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ หากอยากทานสับปะรดเพื่อสุขภาพ อย่าเลือกทานสับปะรดในกระป๋องจะดีกว่าค่ะ เพราะถึงแม้รสชาติจะยังหวานฉ่ำชื่นใจดีอยู่ แต่สับปะรดในกระป๋องจะขาดวิตามินดีๆ ไปมาก รวมถึงเอนไซม์บรอมีเลนที่จะช่วยย่อยโปรตีนด้วยค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก รายการ Did You Know? คุณรู้หรือไม่?
ภาพประกอบจาก
istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook