ซีสต์ กับเนื้องอก ต่างกันอย่างไร? แบบไหนอันตรายกว่ากัน?
เมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัย 25 ไปจนถึง 40-50 ปลายๆ น่าจะเริ่มได้ยินคำว่า “ซีสต์” กับ “เนื้องอก” บ่อยขึ้น ไม่ว่าจะมาจากผลการตรวจสุขภาพประจำปีของตัวเอง หรือมาจากอาการเจ็บป่วยของเพื่อนฝูงรอบกายที่ทยอยต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดไปทีละคน แต่สงสัยกันบ้างไหมคะ ทำไมบางคนเป็นซีสต์ บางคนบอกว่าเป็นเนื้องอก แล้วสองอย่างนี้มันเหมือน หรือต่างกันยังไง ไปหาคำตอบกับ Sanook! Health กันค่ะ
ซีสต์ คืออะไร?
ซีสต์ คืออาการแบ่งเซลล์อันผิดปกติของร่างกาย ก่อให้เกิดสิ่งผิดปกติที่มีลักษณะเป็นถุงน้ำคล้ายลูกโป่งใส่น้ำใสๆ อยู่บริเวณอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งภายในร่างกาย เช่น ซีสต์ที่หลังใบหู คอ (เป็นซีสต์ในผิวหนังชั้นนอก) เต้านม รังไข่ และอื่นๆ
ส่วนใหญ่แล้ว ซีสต์ที่เป็นถุงน้ำมักไม่เป็นอันตรายร้ายแรง และไม่พัฒนาต่อไปเซลล์มะเร็ง หากมีขนาดเล็กๆ และไม่มีการเจ็บปวดอะไร แพทย์จะยังรอดูอาการต่อ แต่หากมีขนาดใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดออกก่อนที่จะใหญ่ไปกว่าเดิม หรืออาจมีกรณีที่ถุงซีสต์บิดขั้วจากการเบียดกันของอวัยวะรอบๆ ทำให้เลือดไม่ไหลเวียนเข้าไปในถุง ทำให้ถุงซีสต์เน่า อักเสบ จนผู้ป่วยมีอาการปวดจนต้องผ่าตัดด่วน
อย่างไรก็ตาม ยังมีซีสต์ชนิดที่เป็นอันตรายกับร่างกาย นั่นคือ ช็อคโกแลตซีสต์ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เมื่อถึงเวลามีประจำเดือน เลือดจะแทรกตัวขังอยู่ในอวัยวะที่มันเกาะทำให้เป็นซีสต์เกิดขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง มดลูกโต หรือมีประจำเดือนมากผิดปกติ
เนื้องอก คืออะไร?
เนื้องอก เป็นเซลล์ที่เจริญผิดปกติเหมือนกับซีสต์ แต่มีลักษณะที่ต่างกัน คือเป็นก้อนเนื้อตันๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเนื้อร้าย หรือเป็นเซลล์มะเร็งได้มากกว่าซีสต์ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่หยุดการเจริญเติบโต เป็นแค่ก้อนเนื้อธรรมดา หากมีขนาดใหญ่แค่ผ่าตัดออกก็ไม่มีปัญหา หากมีขนาดเล็กอาจไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเช่นกัน
สาเหตุของซีสต์ และเนื้องอก
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของซีสต์ และเนื้องอก หากสอบถามแพทย์ แพทย์จะตอบเราได้แค่ว่าเป็นความผิดปกติของร่างกายที่มันเกิดขึ้นเอง (คล้ายมะเร็ง ที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจน) หากแต่พอจะมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่อาจเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายได้เช่นกัน
- นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ
- เครียด
- ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ทานอาหารรสหวาน รสเค็ม หรือรสจัดมากเกินไป
- ทานอาหารที่มีไขมันสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- สูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ทานอาหารที่ไม่สะอาด
- อื่นๆ
วิธีการรักษาซีสต์ และเนื้องอก
เมื่อผู้ป่วยพบความผิดปกติ จนได้รับการตรวจจนแน่ชัดว่ามีซีสต์ หรือเนื้องอกในร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจขนาดของก้อนนั้นๆ หากมีขนาดเล็ก และยังไม่มีอาการผิดปกติอะไร แพทย์จะทำการนัดตรวจเช็คเป็นระยะๆ อาจจะเจาะเอาบางส่วนของเนื้อเยื่อไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง แต่หากมีขนาดใหญ่อาจต้องนัดผ่าตัดเพื่อนำซีสต์ หรือเนื้อเยื่อออกไปจากร่างกายถาวร ในกรณีที่เป็นซีสต์ในเต้านม หากมีขนาดไม่ใหญ่มาก และคนไข้เป็นวัยกลางคน อาจรอดูอาการจนกว่าจะประจำเดือนจะหมด เพราะซีสต์อาจยุบตัวลงเองได้เช่นกัน
ถึงจะฟังแล้วดูน่ากลัว แต่หากเราพบสิ่งผิดปกติกับร่างกายตั้งแต่ระยะแรกๆ อาจจะทำการรักษาได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องผ่าตัดก็ได้ค่ะ ทางที่ดีคือทานผักผลไม้มากๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ แค่ 3 ข้อง่ายๆ ก็ช่วยให้ห่างไกลจากซีสต์ และเนื้องอกได้ไม่มากก็น้อยได้แล้วค่ะ
- ภัยอันตราย “ช็อกโกแลตซีสต์” ผู้หญิงเสี่ยงทุกคน ทุกวัย
- ปวดท้องประจำเดือนมากแค่ไหนถึงเสี่ยงเนื้องอก-ซีสต์?
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก paolohospital.com, hibstation.com
ภาพประกอบจาก istockphoto