ฝี กับ สิว ต่างกันอย่างไร? มีวิธีรักษาฝีอย่างไร?
คนที่เคยเป็นฝีคงจะทราบดีว่า สิว กับ ฝี มีลักษณะคล้ายกันมาก จนเราคิดว่าเราเป็น “สิว” แล้วเราก็ลงมือบีบสิว เพื่อเอาหัวสิวออก แต่สุดท้ายนอกจากหัวสิวจะออกไม่หมดแล้ว ยังปวดระบมมากกว่าสิวปกติอีกด้วย รู้ตัวอีกทีตอนไปหาหมอ หมอก็บอกว่าเป็น “ฝี” ซะแล้ว จริงๆ แล้ว สิว กับ ฝี ต่างกันอย่างไร Sanook! Health นำวิธีสังเกตง่ายๆ มาฝากกันค่ะ
สิว คืออะไร?
สิว เกิดจากการอักเสบจากการอุดตันของต่อมไขมันตามเส้นขน รูขุมขน จากเชื้อโพรพิโอนิแบคทีเรียมเอคเน หากอักเสบมากเพราะติดเชื้อแบคทีเรีย ก็จะมีตุ่มแดง ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำเหมือนซีสต์เล็กๆ ออกมา มักเกิดสิวที่บริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก เช่น ใบหน้า หน้าอก แผ่นหลัง
ฝี คืออะไร?
ฝี เกิดจากการอักเสบของผิวหนังที่มาจากการรวมตัวของหนอง โดยมีเชื้อที่ทำให้เกิดฝี คือเชื้อแสตป ลักษณะของฝีจะเป็นก้อนๆ ใต้ผิวหนัง มีอาการปวด บวม แดง สามารถเกิดขึ้นที่บริเวณใดๆ ของร่างกายก็ได้
หากสิวมีขนาดใหญ่ และอักเสบมาก อาจมีอาการปวดบวม และกลายเป็นฝีได้เช่นกัน
ฝี และ สิว ต่างกันอย่างไร?
แม้ว่าลักษณะภายนอกในบางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงสิวเม็ดใหญ่ๆ ธรรมดาๆ แต่จริงๆ แล้ว สิว กับ ฝี มีสาเหตุของการเกิดที่ต่างกัน สิวมักเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน ดังนั้นจึงมักเกิดสิวที่บริเวณที่มีความมันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า หนังศีรษะ ใบหู แผ่นหลัง แผงหน้าอก เป็นต้น แต่ฝีสามารถเกิดขึ้นที่บริเวณใดก็ได้ในร่างกาย เราจึงอาจพบฝีได้ที่ใบหน้า ลำคอ แผ่นหลัง หน้าอก หรืออาจจะเป็นที่แขน ขา ก้น ก็ได้
สิว มักมีขนาดเล็กกว่าฝี และสามารถหายได้เอง หรือดีขึ้นได้ภายในเวลาไม่นานนัก แต่หากเป็นฝีเราจะเห็นว่า นอกจากจะมีอาการปวดบวมแดงกว่าสิวปกติแล้ว ยังไม่มีอาการดีขึ้น เมื่อใช้ยา หรือเจลแต้มสิวตามปกติ เพราะสิว และ ฝี เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคนละตัวกัน ดังนั้นวิธีการรักษาก็จะแตกต่างกันไปด้วย
วิธีรักษาฝี
หากเป็นฝี จะมีขั้นตอนในการรักษาที่มากกว่าการเป็นสิวตามปกติ คือ ต้องฆ่าเชื้อโรคด้วยยาทา และยารับประทาน ถ้าฝีมีขนาดใหญ่ ต้องเจาะเอาหนองออก เพราะยาที่ทานอาจเข้าไปไม่ถึงหนองข้างใน ตามด้วยการทานยาแก้อักเสบ นอกจากนี้หากเป็นฝีแล้วมีไข้ อาจเป็นเพราะเชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือด อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะผ่านการฉีดร่วมด้วย
จะเห็นได้ว่า ฝี เป็นอันตรายต่อร่างกายมากกว่าสิวอยู่พอสมควร ดังนั้นหากสังเกตได้ว่าสิวที่เป็นมีลักษณะปวดบวมแดง และใช้เวลาในการรักษานานมากกว่าปกติ อย่าบีบสิวด้วยตัวเอง ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี นอกจากจะเป็นอันตรายต่อร่างกายน้อยลง และรักษาหายขาดในเวลาอันรวดเร็วมากยิ่งขึ้นแล้ว อาจทิ้งรอยแผลเป็นน้อยกว่าการบีบสิวด้วยตัวเองอีกด้วย เพราะบอกเลยว่ารอยแผลเป็นรักษาหายอยากกว่าเยอะ
ขอบคุณข้อมูลจาก พญ. ศิริฤทัย อำนาจบุดดี
ภาพประกอบจาก Kwang Kamolchanok's Instagram