12 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับการ “บริจาคเลือด”
หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่าการ "บริจาคเลือด" มีประโยชน์ในเรื่องของการได้ช่วยชีวิตเพื่อมนุษย์ที่ต้องการเลือดเพื่อรักษา แต่นอกจากได้อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นแล้ว การบริจาคเลือดยังมีข้อมูลที่น่าสนใจที่คุณอาจไม่เคยรู้อีกเพียบ
12 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับการ “บริจาคเลือด”
- ใครที่คิดว่าเห็นคนไปบริจาคเลือดกันหลายคน คิดว่าน่าจะเพียงพอแล้ว ขอบอกเลยว่าคิดผิด เพราะปัจจุบันมีความต้องการใช้เลือดในแต่ละวันสูงถึง 5,000 ยูนิตต่อวัน แต่ตอนนี้เลือดที่ได้รับบริจาคมามีเพียง 2,000 ยูนิตต่อวันเท่านั้น
- ที่เห็นไปรอคิวบริจาคเลือดกันมากมาย จริงๆ แล้วเป็นเพียง 3% ของประชากรไทยทั้งประเทศเองนะ แล้วมันจะไปพอที่ไหน จริงไหม?
- เลือดที่เราบริจาคไปในแต่ละครั้ง สามารถแยกออกมาใช้งานได้หลายส่วน ทั้งเกล็ดเลือด พลาสมา และเม็ดโลหิตแดง เราไม่ได้ใช้เลือดเพื่อการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยแต่เพียงอย่างเดียวนะ
- แต่ถึงอย่างไร ผู้ป่วยที่ต้องการใช้เลือดมากที่สุด ก็หนีไม่พ้นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดใหญ่ หรือประสบอุบัติเหตุ แล้วประเทศเราก็ประสบอุบัติเหตุกันบ่อยเสียด้วยสิ
- การบริจาคเลือดช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกให้สร้างเม็ดโลหิตใหม่ๆ ที่มีคุณภาพมาหมุนเวียนใช้บำรุงร่างกาย เป็นการเปลี่ยนถ่ายเลือดเก่า เลือดใหม่ได้อย่างมีประโยชน์ และปลอดภัยที่สุด
- เมื่อเราได้เปลี่ยนถ่ายโลหิตเก่า-ใหม่ ส่งผลให้เลือดใหม่ที่ไปหล่อเลี้ยงตามร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใสยิ่งขึ้น
- หากคุณตั้งใจจะบริจาคเลือดเป็นประจำตามที่สภากาชาดแนะนำ นั่นหมายความว่าคุณจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลา ต้องระวังเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน ไม่เครียด เลยทำให้กลายเป็นคนที่มีสุขภาพดีไปโดยธรรมชาติ
- เมื่อร่างกายแข็งแรง ก็ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่ใครๆ ก็กลัวอย่าง โรคมะเร็ง ซึ่งคนที่บริจาคเลือดจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้ายอย่างมะเร็งน้อยกว่าคนที่ไม่เคยบริจาคเลือดด้วยนะ
- สุขภาพจิตดีตามไปด้วย เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่น ความสุขใจ อิ่มเอมใจ จะส่งผลต่อจิตใจของเราที่รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ได้ทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ด้วย
- เราบริจาคเลือดได้สูงสุด 4 ครั้งต่อปีเลยนะ (โดยที่ไม่ทำให้ร่างกายเราได้รับอันตรายใดๆ) หรือทั้งชีวิตเราบริจาคเลือดได้มากถึง 212 ครั้งเลยทีเดียว
- กรุ๊ปเลือดที่ต้องการมากที่สุดก็คือ กรุ๊ป AB ตามมาด้วยกรุ๊ป A, B และ O ตามสัดส่วนของประชากรในประเทศ
- เคยได้ยินเรื่องกรุ๊ปเลือดแบบ negative ไหม หากใครที่มีกรุ๊ปเลือด Rh- นั่นหมายความว่าคุณใช้เลือดโดยส่วนใหญ่ที่คนไทยมีไม่ได้ (เราเรียกระบบหมู่โลหิตนี้ว่า Rh- ส่วนใหญ่คนไทยมีหมู่เลือดเป็น Rh+ แต่จะพบ Rh- มากขึ้นในชาวต่างชาติ) ใครที่รู้ตัว หรือรู้จักคนที่มีหมู่เลือด Rh- ชวนไปบริจาคเลือดด้วยกันด่วนๆ เลย เพราะกรุ๊ปเลือดนี้ถือว่าเป็นกรุ๊ปเลือดหายาก และพิเศษมากจริงๆ
คุณสมบัติผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้ มีดังนี้
- อายุ 17-70 ปีบริบูรณ์
- น้ำหนักเกิน 45 กิโลกรัม
- นอนหลับพักผ่อนเกิน 6 ชม. ก่อนมาบริจาค
- สภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นไข้หวัด ไม่มีอาการท้องเสีย ท้องร่วงใน 7 วันที่ผ่านมา
- หยุดทานยาทุกอย่างมาแล้ว 7 วัน
- ไม่เป็นโรคหอบหืด, ผิวหนังเรื้อรัง, วัณโรค หรือภูมิแพ้อื่นๆ
- ไม่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ตับ ไต ไทรอยด์ หรือโรคที่เกี่ยวกับเลือด
- หากทำฟัน ควรทิ้งระยะก่อนมาบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 วัน
- หากเคยได้รับการผ่าตัดใหญ่ต้องเกิน 6 เดือน ผ่าตัดเล็ก ต้องเกิน 1 เดือน
- ไม่มีประวัติยาเสพติด หรือพ้นโทษเกิน 3 ปี
- หากเจาะหู สัก ลบรอยสัก หรือฝังเข็ม ต้องเกิน 1 ปี
- หากเคยเป็นไข้มาลาเรีย ต้องเว้น 3 ปี แต่หากเคยเข้าไปในพื้นที่ๆ เสี่ยงต่อการติดต่อโรคมาลาเรีย ต้องเว้น 1 ปี
- ไม่ได้รับวัคซีนใดๆ ภายใน 14 วัน หรือเซรุ่มใดๆ ภายใน 1 ปี
- เลี่ยงอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูงทุกชนิด และงดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนบริจาคเลือด (แต่สามารถทานอาหารก่อนมาบริจาคเลือดได้ตามปกติ ดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อป้องการอาการวิงเวียนศีรษะ)
- คนที่มีอาการแพ้ต่างๆ เช่น แพ้อาหารทะเล แพ้ถั่ว สามารถบริจาคเลือดได้ เฉพาะกรณีที่ ณ ขณะนั้นสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี ไม่ได้มีอาการแพ้เกิดขึ้น
- สตรีที่มีประจำเดือน สามารถบริจาคเลือดได้ หากปริมาณประจำเดือนปกติ และสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีอาการอ่อนเพลีย
- หากเคยรับเลือดของคนอื่นเพื่อการรักษา ต้องเกิน 1 ปี
- ท่านหรือคู่ครองของท่านต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือเบี่ยงเบนทางเพศ
อ่านเพิ่มเติม