10 อาหารเสี่ยงท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ

10 อาหารเสี่ยงท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ

10 อาหารเสี่ยงท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นทำให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาหารจึงบูดเสียได้ง่าย ประกอบกับใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนมักจะซื้ออาหารหรือน้ำดื่มจากนอกบ้านมารับประทานร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล ซึ่งอาจมีเมนูอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารหรือทำให้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้

จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 มีนาคม 2560 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 28,138 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี (14.11%) 25-34 ปี (11.27%) และ 45-54 ปี (11.09%) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ร้อยเอ็ด ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ) สารพิษหรือสารเคมี มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารไม่สะอาด และในอาหารที่ปรุงไว้นานแล้วไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 

1.ลาบ/ก้อยดิบ

2.ยำกุ้งเต้น

3.ยำหอยแครง/ยำทะเล

4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู

5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด

6.ขนมจีน

7.ข้าวมันไก่

8.ส้มตำ

9.สลัดผัก

10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน

 

ทานอาหารอย่างไร ให้ปลอดภัยจากท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ

- รับประทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรือหากเป็นอาหารกล่อง อาหารถุง ก่อนทานให้นำมาอุ่นร้อนก่อนทานทุกครั้ง

- ใครที่ทานอาหารทะเลขอให้ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ

- อาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ และไข่ ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง ไม่รับประทานแบบสุกๆ ดิบๆ เช่นกัน

- อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมง

- หากสังเกตเห็นความผิดปกติในอาหารนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสี กลิ่น รส และลักษณะของอาหารแตกต่างไปจากเดิม ไม่ควรรับประทานเด็ดขาด

- หากมีอาการทานอาหารร่วมกันหลายคน ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง

- ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก

 

สำหรับผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

- ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาด 

- ล้างผัก/ผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง

- หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกแล้วร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค

- ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก

- ดูแลครัวให้สะอาด

 

อาการของโรคอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง มีอาการคล้ายกัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ ส่วนการดูแลเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ  หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook