ยาลดความอ้วน แบบยาชุด มีอันตรายถึงชีวิต
ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหาอย่างมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งประเทศไทย โดยโรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ดังนั้นโรคอ้วนจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษา ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การใช้ยารักษา และการผ่าตัด
ในปัจจุบันพบว่าการนำยาลดความอ้วนไปใช้ในทางที่ผิดมีมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากสื่อต่างๆ และการซื้อยาลดความอ้วนสามารถหาซื้อเองได้ง่าย โดยไม่ได้มีการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรที่เหมาะสม ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา โดยจากการสำรวจของกองควบคุมวัตถุเสพติด พบว่ายาชุดลดความอ้วนมักจะประกอบไปด้วยยาหลายชนิดเพื่อช่วยเสริมผลในการลดน้ำหนัก ซึ่งจัดไว้เป็นชุดให้รับประทานเหมือนกันในแต่ละวัน
ยาชุดลดความอ้วน
1. ยาลดความอยากอาหาร เช่น เฟนเตอมีน (Phentermine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแอมเฟตามีน โดยยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร โดยผลข้างเคียงที่เกิดจากยากลุ่มนี้ เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาจหมดสติหรือชักได้ เป็นต้น ซึ่งยาเฟนเตอมีนนี้มีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคอ้วนโดยตรงแต่ให้ใช้ในระยะสั้นเท่านั้น เช่น ไม่ควรใช้เกิน 3-6 เดือน และหากรับประทานยาลดความอ้วนกลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการติดยาได้ เนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้เคลิ้มมีความสุข และถ้าหากหยุดยาทันทีทันใด อาจเกิดภาวะถอนยาได้ อาการถอนยาดังกล่าวได้แก่ สับสน หวาดระแวง ประสาทหลอน เป็นต้น ยากลุ่มนี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ ซึ่งยามีผลเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลงเร็ว โดยยากลุ่มนี้ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่างเช่น น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่ลดลงที่เกิดจากน้ำหนักตัวที่ปราศจากไขมัน (lean body mass) แทนที่จะเป็นไขมัน ซึ่งเป็นการทำลายโปรตีนของกล้ามเนื้อ มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่น ทำให้ใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
2. ยาขับปัสสาวะ มีผลขับปัสสาวะออกจากร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลงเร็วหลังใช้ยา แต่ยาขับปัสสาวะไม่มีผลในการลดแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับ มีผลเพียงทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายลดลงเท่านั้น ซึ่งนอกจากนี้ยังทำให้สูญเสียสมดุลของเกลือแร่ที่สำคัญต่อร่างกายไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายอาการผิดปกติต่อหัวใจ สมอง และอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยยากลุ่มนี้ไม่ควรนำมาใช้ในการลดน้ำหนักอย่างยิ่ง
3. ยาถ่ายหรือยาระบาย จะกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวทำให้ถ่ายมากหรือบ่อยขึ้น เพื่อขับไล่อาหารออกจากทางเดินอาหารภายหลังการรับประทานยาเข้าไป ทำให้รู้สึกว่าน้ำหนักลดลง แต่การใช้ยาระบายในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเดิน ร่างกายสูญเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ เกิดอันตรายได้ และการใช้ยาระบายติดต่อกันนานๆ ส่งผลร่างกายเริ่มทนต่อยา คือ การใช้ยาในขนาดเท่าเดิมแต่ให้ผลการรักษาลดลง หากต้องการผลการรักษาเท่าเดิม ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้น ดังนั้นควรใช้ยาระบายเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้ในการลดความอ้วน
4. ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ยานี้ไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาลดความอยากอาหารที่มีผลทำให้ไม่หิว ดังนั้นร่างกายจึงไม่ได้รับอาหารหรืออาจได้รับอาหารเพียงเล็กน้อย ซึ่งการที่ร่างกายไม่ได้รับอาหารแต่ยังมีกรดในกระเพาะอาหารหลั่งเพื่อย่อยอาหารอยู่ อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคกระเพาะได้ จึงให้ยานี้เพื่อลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
5. ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) ปกติจะใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้ร่วมกับยาชุดลดความอ้วนนั้น เพื่อลดอาการใจสั่นที่เป็นผลข้างเคียงของยาลดความอยากอาหาร และไทรอยด์ฮอร์โมน ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาลดอัตราการเต้นของหัวใจได้แก่ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
6. ยานอนหลับหรือยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้ง่วงนอน เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam) ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากยาลดความอยากอาหารซึ่งกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งยาในกลุ่มยานอนหลับนี้ยังจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ นอกจากนี้หากรับประทานยากลุ่มนี้ในขนาดที่สูงเกินไป อาจมีผลทำให้เกิดการกดการหายใจและความดันโลหิตต่ำได้
จะเห็นได้ว่ายาชุดลดความอ้วนดังกล่าว ประกอบด้วยยาที่มีผลลดน้ำหนักโดยตรงและยาอื่นๆ ที่ไม่มีผลลดน้ำหนักโดยตรง แต่เป็นยารักษาโรคอื่นที่นำมาใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดความอ้วน แต่กลับส่งผลให้ได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงมากมาย ดังนั้นการหาซื้อยาลดความอ้วนมาใช้เองโดยที่ไม่มีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด อาจส่งผลเสียต่อร่างกายต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ในปัจจุบันพบว่ามีแนวโนมการใช้ยาลดความอ้วนอย่างผิดวิธีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุเป็นเพราะว่าไม่ได้มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและจำเป็นต้องทราบแก่ผู้ป่วย อีกทั้งยาลดความอ้วนยังสามารถหาซื้อได้ง่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงร้านขายยา หรือคลินิกที่ไม่มีการซักประวัติการตรวจร่างกายอย่างเหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบข้างเคียงที่รุนแรงจากการรับประทานยา อาทิ การรับประทานยาเกินขนาด การรับประทานยาลดความอ้วนโดยไม่ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัว หรือมีลักษณะที่ขัดกับข้อห้ามของการใช้ยาดังกล่าว โดยยาลดความอ้วนที่มีการค้นพบว่ามีการใช้อย่างผิดวิธี ได้แก่ Sibutramine และ Phentermine ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก
ข้อห้ามของการใช้ยา Sibutramine
ผู้ป่วยดังต่อไปนี้ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยา Sibutramine อย่างเด็ดขาดเนื่องจากอาจได้รับอันตรายจากยา
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี (ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย)
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เช่น Anorexia Nervosa และ Bulimia Nervosa
- ผู้ที่ใช้ยาในกลุ่ม Monoamine Oxidase Inhibitor (MAOI) เช่น Selegiline หรือ Rasagiline
- เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยง ต่อการเกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง (CNS Toxicity) และ Serotonin Syndrome (หากต้องการใช้ยา Sibutramine ควรใช้หลังจากหยุดยากลุ่ม MAOI ไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์)
- ผู้ที่ใช้ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น Phentermine เป็นต้น
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา Sibutramine
ข้อควรระวังและผลข้างเคียง
ผู้ป่วยดังต่อไปนี้ควรระวังในการใช้ยา Sibutramine เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยาได้
- ในระหว่างที่ใช้ยา Sibutramine ผู้ป่วยบางรายอาจมีระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นควรมีการตรวจระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจอยู่เสมอ
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกและผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin หรือ Aspirin เนื่องจากมีรายงานการเกิดเลือดออกจากการใช้ยา Sibutramine
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ หรือไต รวมถึงผู้ป่วยฟอกไตด้วยเช่นกัน
- ผู้ที่มีประวัติชัก (Seizure) เนื่องจากพบรายงานอาการชักจากการใช้ยา Sibutramine
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรค Neuroleptic Marlignant Syndrome (NMS)
- ผู้ที่มีประวัติเป็นนิ่ว เนื่องจากการลดน้ำหนักอาจเป็นสาเหตุในการทำให้เกิดนิ่วได้
- ผลข้างเคียงที่พบได้ในผู้ที่รับประทานยา Sibutramine ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และเบื่ออาหาร
ข้อห้ามของการใช้ยา Phentermine
ผู้ป่วยดังต่อไปนี้ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยา Phentermine อย่างเด็ดขาดเนื่องจากอาจได้รับอันตรายจากยา
- ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดอุดตัน
- ผู้ป่วยโรคต้อหิน (Glaucoma)
- ผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานมากเกิน
- ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการใช้ยาในทางที่ผิด
- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคจิต หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ
- ผู้ป่วยขณะที่กำลังได้รับยากลุ่ม Monoamine Oxidase Inhibitors (MAOI) รวมทั้งที่เคยได้รับ MAOI มาก่อนหน้านี้ไม่เกิน 14 วัน
โดยผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือมีการเหล่านี้ ห้ามใช้ยา Phentermine เนื่องจากจะมีผลข้างเคียงจากยากทำให้โรคประจำตัวของผู้ป่วยมีสภาวะเลวลง
ดังนั้นการลดน้ำหนักที่ดีและปลอดภัย คือ การควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย อีกทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารร่วมด้วย ซึ่งถึงแม้การใช้ยาลดความอ้วนจะเป็นวิธีเห็นผลเร็ว น้ำหนักลดลงได้เร็วก็จริง แต่หากไม่ได้มีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วย เมื่อหยุดยาลดความอ้วนน้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดิมได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้หากใช้ยาในขนาดที่สูงเกินไป ดังนั้นหากต้องการใช้ยาลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด
โยโย่ เอฟเฟคต์ คืออะไร
โยโย่ เอฟเฟคต์ คือ คำที่ใช้เรียกลักษณะการเหวี่ยงขึ้นอย่างรวดเร็วของน้ำหนักตัวหลังจากที่ทำการลดน้ำหนักอย่างผิดวิธีโดยเฉพาะการใช้ยาลดความอ้วน ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพอาจเปรียบได้กับ โยโย่ ที่เป็นของเล่น เราจะต้องจับลูกโยโย่โยนลงพื้น ถ้าหากเราส่งแรงทิ้งน้ำหนักลงไปมาก ลูกโยโย่ก็จะดีดกลับขึ้นมาอย่างเร็วและแรง จึงเปรียบได้กับน้ำหนักที่เมื่อลดลงไปมาก ก็อาจกลับเพิ่มขึ้นมามากได้เช่นกัน
หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าการเกิด โยโย่ เอฟเฟคต์นั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร บ้างก็บอกว่าเกิดจากการรับประทานยาลดความอ้วนเพียงอย่างเดียว แต่จะขอบอกให้เข้าใจตรงกันในที่นี่ว่า การเกิด โยโย่ เอฟเฟค อาจเกิดจากการที่เราพยายามควบคุมอาหาร หรือเปลี่ยนชนิดอาหารได้เช่นเดียวกัน โดยตามหลักการแพทย์แล้วเรียกว่า ภาวะการขนาดความสมดุลของร่างกาย เพราะว่าในร่างกายของเรานั้นมีความสลับซับซ้อนเสียยิ่งกว่าระบบคอมพิวเตอร์ ระบบการทำงานในร่างกายสามารถสั่งการได้ด้วยการทำกิจวัตรประจำวัน ระบบประสาท และระบบอื่นๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดความเคยชิน รวมถึงจดจำปริมาณอาหารและประมาณแคลลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน
การลดน้ำหนักโดยการลดปริมาณอาหารที่เรารับประทานอยู่เป็นประจำ หรือเปลี่ยนชนิดอาหารเพื่อควบคุมแคลลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน นับว่าเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและไม่เป็นอันตราย อย่างสูตร 3 วัน 7 วันที่เห็นกันอยู่ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีและถูกต้อง ยกตัวอย่าง ปกติเราใช้พลังงานวันละ 800 - 1,200 kcal แล้วเรารับประทานอาหารวันละ 400 kcal เราก็จะสามารถดึงของเก่าที่สะสมในร่างกายออกมาใช้ได้วันละ 400 - 600 kcal แต่หากเราลดปริมาณอาหารลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ติดต่อกัน 3 วัน ร่างกายก็จะตอบสนองว่ากำลังจะไม่มีอาหารเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายก็จะลดการเผาผลาญพลังงานลง จากวันละ 800 - 1,200 kcal เป็น 400 - 600 kcal เพื่อกักสิ่งที่เรารับประทานเข้าไปให้มากที่สุด ช่วงแรกจะเห็นว่าน้ำหนักลดลงเยอะมาก แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะ น้ำหนักก็จะไม่ลดลงสักขีด เราก็จะเกิดอาการท้อจนกลับมากินตามปกติ 1,200 kcal แต่ร่างกายก็ยังคงเผาผลาญวันละ 400 kcal เท่าเดิมนั่นเอง ฉะนั้นหมายความว่าเราจะมี 800 kcal จากสิ่งที่รับประทานเข้าไปแล้วเปลี่ยนเป็นไขมันไปกักเก็บตามส่วนต่างๆ เหมือนเดิม จากที่เคยลดลงไป 9 กิโลกรัม ก็สามารถเปลี่ยนมาให้เพิ่มขึ้นอีก 15 กิโลกรัม ได้อย่างง่ายดาย
อ่านเพิ่มเติม: ลดน้ำหนักแบบนี้ไม่พ้นโยโย่
8 ข้อพึงระวังในการใช้ยาลดความอ้วน
- การใช้ยาลดความอ้วนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการช่วยควบคุมน้ำหนักให้มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องใช้ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- ควรใช้ยาลดความอ้วนเมื่อผู้ป่วยมีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัม / ตารางเมตร หรือที่ระดับ 30.00 ขึ้นไป สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และสตรีตั้งครรภ์แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาลดความอ้วน
- ก่อนที่จะตัดสินใจใช้ยาลดความอ้วน ควรเริ่มต้นด้วยวิธีการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ซึ่งหากน้ำหนักลดลงเกินร้อยละ 10 ไม่จำเป็นต้องใช้ยา
- ควรเลือกใช้ยาลดความอ้วนประเภทที่เป็นยาลดความอยากอาหารในกรณีที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเนื่องจากความหิว หรือรับประทานอาหารมากเกินไป หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรง อาทิ โรคข้อเข่าอักเสบอย่างรุนแรง
- การใช้ยาลดความอ้วนในกลุ่มที่เป็นยาช่วยลดความอยากไม่อาหารไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน เพราะประสิทธิภาพของตัวยาจะลดลง อาจทำให้หนักตัวกลับเพิ่มขึ้น และอาจมีอาการติดยาได้
- ในขณะที่มีการใช้ยาลดความอ้วน น้ำหนักควรลดลง 0.5 - 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หากไม่เป็นไปตามนี้ต้องทำการเปลี่ยนยาเนื่องตัวยานั้นไม่ได้ให้ผลที่ดีกับร่างกาย
- การใช้ยาขับปัสสาวะ ยาระบาย และธัยรอยด์ฮอร์โมนไม่มีผลในการช่วยลดน้ำหนัก ถือว่าเป็นการใช้ยาในทางที่ผิด
- ก่อนใช้ยาลดความอ้วนควรปรึกษาเภสัชกร หรือให้อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ดังนั้น วิธีการลดน้ำหนักที่ได้ผลดีในระยะยาว คือ การควบคุมอาหารอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับออกกำลังกายเพื่อคงระดับการเมตาบอลิซึ่มให้พอดีกับอาหารที่ทานและกิจกรรมที่ทำ รวมถึงเราจำเป็นต้องเปลี่ยนอุปนิสัยในการกินด้วย เพราะถ้าหากเราสามารถลดได้ 10 กิโลกรัม แต่ยังกลับมารับประทานแบบเดิม อาหารที่มีน้ำมัน มีไขมัน หรือจังก์ฟู๊ดก็ไม่มีประโยชน์ อย่าลืมหันมาดูแลสุขภาพของเรากันอย่างจริงได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งยา
เอกสารอ้างอิง
- กองควบคุมวัตถุเสพติด. โรคอ้วนและปัญหาการใช้ยาลดความอ้วนในประเทศไทย. [Online]. [cited 2014 Jul 12]. Available from: URL: http://www.fda.moph.go.th/
- สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วน. นครปฐม: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 2553.
- Anti-obesity drugs Guidance on appropriate prescribing and management. London, Royal College of Physicians, 2003.
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อันตรายจากยาชุดลดความอ้วน. [Online]. [cited 2014 Jul 21]. Available from: URL: http://www.oryor.com/
ขอบคุณข้อมูลจาก