อย. เสนอแก้กฎหมาย "พืชกระท่อม" ใช้เพื่อการแพทย์และงานวิจัยได้
อย.ส่งเสริมการพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพ ย้ำไม่ปิดกั้นความก้าวหน้าทางการแพทย์ พร้อมเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และศึกษาวิจัยได้
นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีนโยบายมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายาที่ดี มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่เคยปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยกรณีของพืชกระท่อมปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาตเป็นรายๆ ไป และห้ามมิให้ผู้ใดเสพพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำหรือปรับซึ่งการที่จะเปิดให้สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้นั้น
อย. ได้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายในประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ โดยแก้ไขเป็นห้ามมิให้ผู้ใดเสพพืชกระท่อม เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะประกาศกำหนดตำรับยาที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์
ทั้งนี้ ผลจากการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เมื่อร่างประมวลกฎหมายฯ มีผลบังคับใช้ พืชกระท่อมก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ หรือนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยในมนุษย์ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่เนื่องจากการที่ใบกระท่อมมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน การถอนพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษควรคำนึงถึงผลกระทบ ทางด้านสาธารณสุขและสังคมร่วมด้วย
เลขาธิการฯ กล่าวต่อในตอนท้ายว่า อันที่จริงแล้วการควบคุมพืชกระท่อมในประเทศต่างๆ ปัจจุบัน สหประชาชาติยังมิได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อมตามอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศ แต่ได้ขอให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้พืชกระท่อมด้วย จากการสืบค้น พบว่า ประเทศต่าง ๆ เช่น เดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน มีการควบคุมพืชกระท่อม และสารไมทราไจนีน (Mitragynine) และเซ่เว่นไฮดรอกซี่ไมทราไจนีน (7-Hydroxymitragynine) สำหรับประเทศออสเตรเลีย พม่าและมาเลเซีย ก็มีการควบคุมพืชกระท่อม เช่นกัน