ยาตีกัน

ยาตีกัน

ยาตีกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นศภ. กุลวดี ชูชะเอม
นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อันตรกิริยาระหว่างยาหรือที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ยาตีกัน” เป็นปฏิกิริยาระหว่างยาที่ใช้ร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมซึ่งส่งผลต่อการรักษาและความปลอดภัยของการใช้ยาโดยระดับยาที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือเป็นพิษได้ ในทางกลับกันระดับยาที่ลดต่ำลงอาจส่งผลต่อการรักษา ทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายภายหลัง อันตรกิริยาระหว่างยานี้เกิดได้จาก 2 กลไกหลักได้แก่


ปฏิกิริยาระหว่างยาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฤทธิ์ของยาแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ

1.ยา 2 ชนิดที่ได้รับมีการออกฤทธิ์ตรงข้ามกันส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัวลดลง ทำให้ผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
2.ยา 2 ชนิดที่ได้รับมีการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกันส่งผลเพิ่มการออกฤทธิ์ของยามากกว่าได้รับยาเพียงตัวเดียวผลการรักษาอาจดีขึ้นแต่ผลข้างเคียงก็อาจเพิ่มมากขึ้นด้วย


ปฏิกิริยาระหว่างยาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับยาในเลือด

อันตรกิริยาระหว่างยาหรือที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ยาตีกัน” เนื่องจากยาดังกล่าวรบกวนกระบวนการต่างๆ เช่น การดูดซึม การจับกับโปรตีนในเลือด กระบวนการเปลี่ยนสภาพยาและกระบวนการกำจัดยา ทำให้ระดับยาอีกตัวหนึ่งในเลือดเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากปกติ ส่งผลต่อการรักษาและความเป็นพิษของยา

นอกจาก 2 กลไกหลักที่กล่าวมาข้างต้นยังพบอันตรกิริยาระหว่างยาที่เกิดจากการเตรียมยา ซึ่งยา 2 ชนิดเมื่อผสมเข้าด้วยกันในสารละลายทำให้เกิดตะกอนหรือสีที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากความไม่เข้ากัน ทำให้ผลการรักษาลดลงหรือไม่ได้ผล


ยาลดกรด(แอนตาซิด) ซึ่งเป็นยาพื้นฐานที่ใช้รักษาอาการไม่สบายท้อง และสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป สามารถเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับยาใดได้บ้าง

 

-ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเตตร้าไซคลินและยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน

ส่วนประกอบในยาลดกรดจำพวกแมกนีเซียมและอะลูมิเนียม สามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนที่ไม่ละลายน้ำกับตัวยาฆ่าเชื้อ ทำให้การดูดซึมยาฆ่าเชื้อลดลง ส่งผลต่อระดับยาในเลือด ถ้าระดับยาฆ่าเชื้อต่ำมาก อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล

-ยาฆ่าเชื้อรากลุ่มเอโซลโดยเฉพาะยาคีโตโคนาโซล

การดูดซึมของยากลุ่มนี้ เกิดขึ้นได้ดีเมื่อกระเพาะอาหารอยู่ในภาวะกรด ดังนั้นการรับประทานยานี้ร่วมกับยาลดกรดจะทำให้กระเพาะอาหารเป็นกรดลดลง ร่างกายจึงดูดซึมยาได้ปริมาณน้อยลง

-ยากันชัก

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่มีช่วงระดับยาในการรักษาแคบ หากได้รับร่วมกับยาลดกรดแล้ว ส่งผลให้ยาบางตัวถูกดูดซึมเข้าสู่เลือดได้มากขึ้นจนเกิดพิษบางตัวดูดซึมลดลงจนไม่สามารถควบคุมอาการชักได้

การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยานั้น เป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น การให้ความร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการแจ้งชื่อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ที่ใช้อยู่เป็นประจำ การปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเคร่งครัด ก็เป็นส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาได้ อีกทั้งทำให้เกิดความคุ้มค่าจากการใช้ยาแก่ตัวเรามากที่สุดด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.ศูนย์พัฒนาทรัพยากรการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ความผันแปรในการตอบสนองต่อยา (Individualization variation and drug interaction)[อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 เมยายน 2557]. เข้าถึงได้จาก: http://www.elearning.msu.ac.th/opencourse/0702%20303/Html/Unit4_6.htm
2.Tatro DS. Drug Interaction Facts.Missouri: Wolters Kluwer Health ;2012.
3.Kashuba AD, Bertino JS. Mechanisms of Drug Interactions I. Infect Dis 2005:13-39.
4.Fish DN. Fluoroquinoloneadverse effects and drug interactions[Internet]. [Cited 2012 Apr 4]. Available from: http://www.medscape.com/viewarticle/418295_4

ขอบคุณข้อมูล จาก www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/236/ยาตีกัน-ทำไมยาตีกัน/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook