น้ำยาอุทัย ดื่มและทานานๆ มีผลเสียต่อร่างกายหรือไม่?
ไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้จะรู้จัก “น้ำยาอุทัย” กันอยู่หรือเปล่า น้ำแดงๆ หยดลงน้ำเย็น กลิ่นหอมชื่นใจ ยิ่งใครได้ดื่มจากขันที่มีน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ ลอยอยู่ด้วยล่ะก็ บอกเลยว่าหลายคนมีฟิน แต่ของแบบนี้จะเรียกว่า “ไม่รัก ก็เกลียดไปเลย” ได้เหมือนกัน เพราะบางคนขอบาย แค่ได้กลิ่นก็เวียนหัวแล้ว
นอกจากน้ำยาอุทัยมีไว้ผสมน้ำดื่มแล้ว ยังมีวัยรุ่นบางคนที่อยากมีปากแดงๆ แก้มแดงอมชมพู นำน้ำยาอุทัยมาทาปากทาแก้มแทนเครื่องสำอางปกติอีกด้วย เรียกได้ว่าประโยชน์คูณสองจริงๆ
แต่.... ใครก็ตามที่ทั้งดื่ม ทั้งทา ทั้งติดใจเจ้าน้ำยาสีแดงๆ นี้เป็นเวลานานๆ อาจกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ทาปากทาแก้มแล้ว ปากจะดำ แก้มจะเป็นฝ้าเป็นกระหรือเปล่า
ก่อนอื่นต้องมาดูก่อนว่า น้ำยาอุทัย มีส่วนประกอบอะไรบ้าง
ส่วนประกอบของน้ำยาอุทัย
1. ฝาง
ส่วนประกอบหลักของน้ำยาอุทัย ที่ทำให้น้ำยาอุทัยเป็นสีแดง ฝางช่วยบำรุงโลหิต บางคนต้มน้ำดื่มเพื่อช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติด้วย
2. ดอกพิกุล
ให้รสเย็น ช่วยลดไข้ บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ และลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
3. ดอกมะลิ
ให้รสเย็นชื่นใจเช่นเดียวกัน บำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ
4. หญ้าฝรั่น
หญ้าฝรั่นช่วยลดไข้ บำรุงเลือด บำรุงธาตุ และเป็นยาชูกำลัง
5. ดอกสารภี
แม้ว่าดอกสารภีจะมีรสขม แต่ก็ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยให้เจริญอาหาร และบำรุงหัวใจ
6. ดอกบุนนาค
ดอกบุนนาคเป็นอีกส่วนผสมที่มีรสขมนิดๆ ช่วยลดไข้ ขับลม แก้ตาพร่ามัว บำรุงธาตุ บำรุงโลหิตและบำรุงหัวใจ
7. ดอกคำฝอย
ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด
8. ดอกเก็กฮวย
ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยบำรุงหัวใจ
9. เกสรบัวหลวง
เกสรดอกบัวอาจมีรสฝาดนิดๆ แต่ก็ช่วยบำรุงกำลัง ทำให้สดชื่น และแก้อาการวิงเวียน หน้ามืด
10. อบเชย
อบเชยมีฤทธิ์ช่วยแก้อ่อนเพลีย บำรุงธาตุ และเป็นยาขับลม
11. กฤษณา
มีสรรพคุณช่วยในการบำรุงโลหิต แก้ท้องร่วง และอาเจียน
12. จันทน์แดง
ช่วยบำรุงเลือด
13. โกศหัวบัว
ช่วยขับลม
14. โกศเขมา
แก้โรคในปาก ในคอ แก้หอบ แบะช่วยขับลม
15. โกศสอ
ลดไข้ แก้ไอ ช่วยขับลม และบำรุงหัวใจ
16. โกศเชียง
ลดไข้ แก้ไอ ขับลม และช่วยบำรุงเลือด
ทั้งนี้ น้ำยาอุทัยแต่ละเจ้า อาจมีส่วนผสมที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละที่ แต่ที่เป็นส่วนผสมหลักคือ ฝาง ที่มีฤทธิ์บำรุงโลหิต และสมุนไพรอื่นๆ ที่เน้นเรื่องของการลดความกระหายน้ำ และให้ฤทธิ์เย็น ลดความร้อน จึงเหมาะกับอากาศบ้านเรา และเป็นนิยมของใครหลายคน ด้วยกลิ่น และรสชาติที่เย็นชื่นใจ
น้ำยาอุทัย อันตรายหรือไม่?
จากส่วนผสมที่เน้นเรื่องการลดอุณหภูมิร้อนในร่างกาย ดังนั้นจึงไม่เหมาะในการนำมาดื่มมาทานช่วงฤดูหนาว หรือเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะแวดล้อมเย็นๆ ส่วนเรื่องทาปากทาแก้มแล้วจะเป็นอันตรายหรือไม่ น่าจะเป็นที่แต่ละบุคคลมากกว่า ว่าจะมีอาการแพ้ต่อส่วนผสมใดส่วนผสมหนึ่งในน้ำอุทัยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม อะไรที่มากเกินไป ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ดังนั้นถึงแม้ว่าจะติดอกติดใจกลิ่นหอมสดชื่น และรสเย็นฉ่ำของน้ำยาอุทัยมากเท่าไร ก็อย่าทานมากจนเกินไปจะดีกว่าค่ะ ผสมทานบางๆ นานๆ ดื่มทีเมื่อต้องการความสดชื่น ก็น่าจะเพียงพอแล้วเนอะ