ปวดหัว อาการปวดหัวแบบไหน ถึงเรียกว่า “ผิดปกติ”
ไม่ว่าใคร อายุเท่าไร เพศอะไร ก็ปวดหัวได้ ปัจจัยที่จะทำให้เกิดอาการปวดหัวก็มีมากมายหลายประการ จนคุณอาจไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
นอกจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือปวดศีรษะจากอาการไม่สบาย เป็นไข้แล้ว ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว และอาการปวดหัวก็มีหลายแบบเสียด้วย แบบไหนอันตรายถึงขั้นพาราเซตามอลก็ไม่ช่วยอะไร มาดูกันค่ะ
สาเหตุของอาหารปวดหัว ที่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง
- เครียด วิตกกังวล ทำงานหนักจนเกินไป
- ใช้สายตาเพ่งจ้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เช่น จ้องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์
- อ่านหนังสือ ใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตในที่ๆ มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
- รับคาเฟอีนมากเกินไป อาจมาจากการดื่มกาแฟมากเกินไป (มากกว่า 2 แก้วต่อวัน)
- พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึกตื่นสาย
- ปวดหัวจากการมีไข้ ไม่สบาย
โดยอาการปวดหัวจากสาเหตุตามด้านบน จะเป็นอาการปวดหัวตื้อๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเล็กน้อย เช่น ทำงานต่อไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก แต่ยังสามารถทนอาการได้ ทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล หรือแอสไพริน และนอนพักผ่อนสักพักก็หายเป็นปกติ
แต่หากมีอาการปวดหัวตามลักษณะนี้ อาจมีความปกติที่จำเป็นจะต้องพบแพทย์
- ปวดหัวมาก อาจจะปวดหัวข้างเดียว ลามไปถึงกระบอกตา หน้ามืด
สาเหตุ อาจมาจากปวดหัวไมเกรน หรือต้อหินเฉียบพลัน - ปวดหัวหลายครั้งจนเกินไป มากกว่า 1 ครั้งใน 1 อาทิตย์ และปวดต่อเนื่องเป็นเดือนๆ
สาเหตุ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท - ปวดหัวรุนแรงแบบทนอาการไม่ได้ พร้อมด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน ตาพร่ามัว
สาเหตุ เป็นไปได้หลายอย่าง อาจจะมีเลือดออกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งในสมอง - ปวดหัวหลังตื่นนอนตอนเช้า ปวดหัวจนต้องสะดุ้งตื่น
สาเหตุ นอกจากความเครียดแล้ว ยังอาจเป็นเนื้องอกในสมอง - ปวดหัวรุนแรง พร้อมอาการคอแข็ง
สาเหตุ การมีอาการติดเชื้อในระบบประสาท เช่น ติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง - ปวดหัว และมีอาการมึนงง สับสน พูดไม่รู้เรื่อง ดูไม่มีสติ หรือหมดความรู้สึกไป
สาเหตุ อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมองอักเสบ - ปวดหัวหลังจากศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน
สาเหตุ อาจมีอาการเลือดคั่งในสมองจากอุบัติเหตุ - ไม่ค่อยปวดหัว แต่จู่ๆ ก็ปวดหัวขึ้นมา และมีอาการรุนแรง
สาเหตุ อาจมีปัญหาในระบบประสาทและสมองเฉียบพลัน
อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าอาการปวดหัวลุกลาม หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากจนเกินไป ควรรีบพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวดหัวจะดีกว่าค่ะ เพราะอาการปวดหัวเป็นอาการเริ่มต้นของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากมาย เป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายอันดับต้นๆ ดังนั้นอย่ารอจนสายเกินไปนะคะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก khonkaenclinic.com, หมอชาวบ้าน
ภาพประกอบจาก istockphoto