เคล็ดลับง่ายๆ แก้อาการ “ตะคริว” หายไวแน่นอน
อาการตะคริวกินขา กินเท้า มักเกิดในเวลาที่เราไม่ทันตั้งตัว อาจจะกำลังออกกำลังกายในท่าทางที่ไม่คุ้นชิน ตะคริวกินขาเมื่อว่ายน้ำนานๆ หรือนั่งอยู่เฉยๆ ก็อาจจะมีอาการตะคริวได้เหมือนกัน ใครเป็นก็ต้องร้องโอดโอย และก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากรอให้หายปวดไปเอง
จริงๆ มีวิธีที่ช่วยลดอาการปวกเกร็งที่เกิดจากตะคริวอยู่ด้วยนะคะ รับรองว่าช่วยได้จริง และปลอดภัย 100%
แต่ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนดีกว่าว่า สาเหตุของตะคริว มาจากอะไร
ตะคริว มีสาเหตุมาจากอะไร?
มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตะคริว อาจเกิดมาจากภาวะที่ร่างกายสูญเสียแมกนีเซียมออกไปพร้อมกับเหงื่อขณะออกกำลังกาย กล้ามเนื้อบริเวณใดบริเวณหนึ่งอาจมีอาการเกร็งนานเกินไป ทำให้ขาดการไหลเวียนของโลหิต ออกซิเจน และแร่ธาตุ อาจมาจากการสูญเสียน้ำ และแร่ธาตุหลังจากอาการท้องเสียท้องร่วง หรืออาจเป็นความผิดปกติของเซลล์ประสาทก็ได้
ตะคริว รักษาอย่างไร?
เมื่อกล้ามเนื้อมีอาการเกร็ง เราจึงต้องทำการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง
วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้กล้ามเนื้อหายเกร็ง คือการทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้ามกับที่เป็นอยู่ เช่น หากกล้ามเนื้อน่องมีอาการตะคริว ปลายนิ้วเท้าอาจบิดชี้จิกพื้น ให้ค่อยๆ ดันปลายนิ้วเท้าไปทิศทางตรงกันข้าม ดันกลับมาช้าๆ อย่าผลักดัน หรือกระชากอย่างรุนแรง เพราะกล้ามเนื้ออาจฉีกขาดได้
หากอยู่เพียงลำพังคนเดียว ให้พยายามนั่งยองๆ กับพื้น เหยียดขาค้างที่เป็นตะคริว และลองฝืนกระดกข้อเท้าขึ้น แล้วค้างไว้
ป้องกันอาการตะคริวได้อย่างไร?
เมื่อตะคริวเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียเกลือแร่ และน้ำ ก่อนออก หรือระหว่างออกกำลังกาย อาจดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยเกลือแร่ที่เสียไป นอกจากนี้ดื่มน้ำระหว่างวันให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัวที่ดีก่อนไปออกกำลังกาย ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากก่อนออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้มีอาการจุกเสียดท้องได้
ก่อนออกกำลังกายควรมีการอบอุ่นร่างกายด้วยทำท่าแอโรบิคอย่างง่าย เพื่อยืดกล้ามเนื้อ หรือที่เราเรียกว่า การวอร์มอัพ และคูลดาวน์อีกครั้งหลังออกกำลังกายเสร็จ จะช่วยลดอาการตะคริวที่อาจเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้การทานอาหารที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียม เช่น กล้วย ก็สามารถลดอาการตะคริวที่จะเกิดระหว่างการออกกำลังกายได้เช่นกัน
แต่หากเป็นอาการตะคริวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย อาจต้องหลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศเย็นจัด สวมเสื้อผ้า ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่นตลอดเวลา และการยืดกล้ามเนื้ออยู่สม่ำเสมอ จะช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งตัวฉับพลันได้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก กภ.ว่าที่ร้อยตรีอรรถพร มงคลภัทรสุข คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto