อันตรายที่มากับ "รองเท้า"

อันตรายที่มากับ "รองเท้า"

อันตรายที่มากับ "รองเท้า"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงนวพร  ชัชวาลพาณิชย์
คลินิกสุขภาพเท้า ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

 

สิ่งที่ช่วยปกป้องเท้าของเราก็คือ รองเท้า ซึ่งควรสวมรองเท้าตลอดเวลาแม้อยู่ในบ้าน เพื่อช่วยรับน้ำหนักและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเท้า แต่ถ้ารองเท้าที่เราสวมใส่ไม่เหมาะสมกับเท้า รองเท้าอาจเป็นตัวก่อปัญหาให้กับเราแทน

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม

นิ้วหัวแม่เท้าเก  พบได้ในผู้ที่ใส่รองเท้าหน้าแคบ ทำให้นิ้วหัวแม่เท้าเกหรือบิดเข้าสู่นิ้วชี้ มีอาการปวดบริเวณข้อนิ้วหัวแม่เท้าที่นูนออกเพราะเสียดสีกับรองเท้า อาจเกิดหนังด้านและมีการอักเสบของถุงน้ำที่บริเวณนี้ได้  บางครั้งนิ้วหัวแม่เท้าเบียดนิ้วเท้าอื่นๆ ทำให้นิ้วเกยกัน ถ้าเป็นมากจะพบนิ้วชี้เท้าถูกเบียดลอยขึ้นอยู่บนนิ้วหัวแม่เท้า ผิวด้านบนของนิ้วเท้าที่เกยกันอาจเสียดสีกับรองเท้าทำให้เกิดหนังด้าน บางรายอาจมีอาการปวดจากเยื่อหุ้มข้อทางด้านในถูกดึงยืดและจากเส้นประสาททางด้านในถูกกดและดึงรั้งด้วย นอกจากนี้การมีนิ้วหัวแม่เท้าเกทำให้นิ้วหัวแม่เท้าไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ภาระจึงตกอยู่กับฝ่าเท้าบริเวณนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อยแทน  ทำให้เจ็บบริเวณฝ่าเท้าและมีหนังด้านเกิดขึ้น

ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า พบได้ในผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำซึ่งฝ่าเท้าจะต้องรับน้ำหนักมาก อาการปวดจะเป็นเวลาเดินบนพื้นแข็งหรือใส่รองเท้าส้นสูง มักเจ็บลดลงเมื่อเดินบนพื้นนุ่มๆ ใส่รองเท้าพื้นนิ่มและใส่รองเท้าส้นเตี้ย บางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปที่นิ้วเท้าและข้อเท้าและมักพบหนังด้านบริเวณฝ่าเท้าด้วย

มีหนังด้านหรือตาปลาที่ฝ่าเท้า หนังด้านที่ฝ่าเท้าเกิดจากการกดทับที่มากกว่าปกติ และการเสียดสี หนังด้านบริเวณด้านข้างของนิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วก้อยมักเกิดจากการใส่รองเท้าหน้าแคบทำให้รองเท้าเบียดเสียดสีกับนิ้วเท้า ส่วนหนังด้านบริเวณฝ่าเท้ามักเกิดจากการใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้ฝ่าเท้าต้องรับน้ำหนักมากกว่าส้นเท้า และมักพบร่วมกับการปวดฝ่าเท้าด้านหน้า

ปวดล้าบริเวณนิ้วเท้า น่อง และหลัง  เกิดจากการใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้กล้ามเนื้อเล็กๆ ในเท้า กล้ามเนื้อน่องและหลังต้องทำงานหนักขึ้น

 

เลือกรองเท้าอย่างไรดีไม่ให้มีปัญหา

คำตอบคือการเลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสมทั้งรูปแบบและขนาดของรองเท้า และถ้าเท้าของเรามีปัญหาแล้วต้องเลือกรองเท้าที่มีรูปแบบพิเศษให้เหมาะสมกับเท้าของเรา

 

เลือกซื้อรองเท้าอย่างไรเพื่อให้ได้ขนาดและรูปแบบที่เหมาะสม

- เลือกคู่ที่ขนาดเหมาะสม ความยาวของรองเท้าที่เหมาะสมคือส้นเท้าจะชิดส้นรองเท้าพอดี และส่วนหัวรองเท้าจะเหลือพื้นที่เท่ากับความกว้างของนิ้วหัวแม่มือเมื่อวัดจากนิ้วเท้าที่ยาวที่สุดซึ่งไม่จำเป็น ต้องเป็นนิ้วหัวแม่เท้าเสมอไป หัวรองเท้ากว้างและลึกพอจนไม่กดและเสียดสีกับนิ้วเท้า และส่วนที่กว้างที่สุดของรองเท้าควรตรงและพอดีกับตำแหน่งที่กว้างที่สุดของเท้า

- เลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่ายๆ ถ้าต้องเดินในช่วงกลางวัน ควรเลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่าย เพราะเท้าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อผ่านการเดินมาตลอดทั้งวัน เนื่องจากเลือดไหลเวียนลงสู่เท้ามากขึ้น จึงเหมาะที่จะเลือกรองเท้าเพื่อป้องกันปัญหารองเท้าคับ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและชีวิตประจำวันด้วย

- ลองรองเท้าทั้งสองข้างเสมอ เท้าคนเราสองข้างไม่เท่ากัน จึงควรลองรองเท้าทั้งสองข้างและเดินไปมาด้วยว่าสบายเท้าหรือไม่

            - เผื่อที่กันคับ อุปกรณ์เสริมในรองเท้าต่าง ๆ เช่น แผ่นรองเท้า แผ่นกันรองเท้ากัด ฯลฯ จะทำให้รองเท้าคับขึ้น หากต้องใช้อุปกรณ์เหล่านั้น ควรเลือกรองเท้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย

            - แบนไปไม่ดี  พื้นรองเท้าที่แบนราบเกินไปไม่เหมาะกับสรีระเท้าต่อการรับน้ำหนัก ดังนั้นหากใส่รองเท้าควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและเสริมบริเวณอุ้งเท้าจะดีกว่า

 feet


เลือกซื้อรองเท้าให้เหมาะสมในแต่ละคน

- นักกีฬา ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับแรงกระแทกได้ดี  หากกีฬาที่เล่นใช้ปลายเท้าเป็นส่วนมากเช่น การวิ่ง ควรเลือกรองเท้าที่ออกแบบให้รองรับแรงกระแทกส่วนหน้าโดยเฉพาะ

- ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า ปัญหานี้พบบ่อยในผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ  ดังนั้นผู้ที่มีอาการนี้จึงควรรองเท้าส้นเตี้ย มีพื้นนิ่ม และมีหน้ารองเท้ากว้าง เพื่อลดการบีบและเสียดสีของเท้า

- มีเท้าแบน ฝ่าเท้าแบนทำให้ปวดบริเวณกลางฝ่าเท้า เนื่องจากเอ็นซึ่งทำหน้าที่ยกอุ้งเท้าถูกดึงยืด  ดังนั้นควรสวมรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้า (พื้นรองเท้านูนขึ้นตรงอุ้งเท้า) เพื่อช่วยเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้า 

- มีอุ้งเท้าสูง คนอุ้งเท้าสูงจะมีปัญหาปวดบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้า เพราะการรับน้ำหนักของอุ้งเท้าส่วนกลางหายไป  รองเท้าจึงควรมีลักษณะเสริมอุ้งเท้า เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักจากฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้ามาที่อุ้งเท้าและควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและมีความยืดหยุ่น

- ปวดส้นเท้า การปวดส้นเท้าส่วนใหญ่เกิดจากจุดยึดพังผืดบริเวณส้นเท้าอักเสบ ซึ่งมักปวดมากในการเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน เพราะพังผืดถูกยืดทันทีทันใด รองเท้าที่เหมาะกับปัญหานี้ ควรมีพื้นนิ่ม มีส้นเล็กน้อยเพื่อถ่ายน้ำหนักไปยังเท้าส่วนหน้า การใส่รองเท้าที่มีการเสริมอุ้งเท้า และนวดฝ่าเท้าก่อนลุกจากเตียงรวมถึงการบริหารยืดเอ็นร้อยหวายซึ่งทำได้โดยการนั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืดไปด้านหน้า และใช้ผ้าคล้องที่ปลายเท้าเอาไว้ ขาอีกข้างชันเข่าขึ้น และออกแรงดึงปลายผ้าทั้งสองข้างเข้าหาตัวจนรู้สึกว่าน่องตึง ค้างไว้ 10 วินาทีนับเป็น 1 ครั้ง ทำวันละ 10-15 ครั้ง จะช่วยลดการปวดเท้าและลดการเกิดอาการช้ำได้ 

- เป็นเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมักมีปลายประสาททำงานผิดปกติ ทำให้เท้าชา มีนิ้วเท้าหงิกงอ ทำให้ฝ่าเท้าด้านหน้ารับน้ำหนักมากและนิ้วเท้าเสียดสีกับหัวรองเท้า จึงควรเลือกใส่รองเท้าพื้นนิ่ม มีหัวลึกและกว้าง ห้ามใช้รองเท้าคีบ เพราะอาจทำให้เกิดแผลบริเวณร่องนิ้วเท้าได้โดยไม่รู้ตัว

 

รองเท้าส้นสูง-รองเท้าสองชั่วโมง

รองเท้าส้นสูงทำให้ผู้ใส่ดูสูง มีขาเรียวสวยขึ้น แต่การใส่ส้นสูงนาน ๆ อาจมีปัญหาปวดฝ่าเท้า นิ้วเท้า ปวดน่อง ปวดหลัง  ผิวฝ่าเท้าส่วนหน้าอาจด้านและแข็งเป็นไตเพราะต้องรับน้ำหนักมาก  ดังนั้นควรใส่ส้นสูงเมื่อจำเป็น  เช่น  ออกงานกลางคืนและไม่ควรใส่นานเกินสองถึงสามชั่วโมง     

 

จะเห็นได้ว่ารองเท้าเป็นได้ทั้งตัวก่อปัญหาและตัวแก้ปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับเท้าของเราหรือไม่

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook