4 โรคอันตรายควรระวังในปี 2560
กรมควบคุมโรค วิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา โดยวิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาการเกิดโรคต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรค และนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2560 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพยากรณ์โรคติดต่อ และกลุ่มที่ 2 โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ซึ่งการพยากรณ์โรคติดต่อ มี 4 โรคสำคัญ ดังนี้
จากข้อมูลในปี 2559 พบผู้ป่วย 57,425 ราย เสียชีวิต 55 ราย และในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีผู้ป่วยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยในภาพรวมลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 และพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กโต อายุ 7–14 ปี สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ตลอดทั้งปีประมาณ 37,500 ราย ส่วนการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง โดยวิเคราะห์จากพื้นที่ที่ระบาดซ้ำซากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดสูง ใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมกันประกาศสงครามกับยุงลายทั้งประเทศโดยทำอย่างจริงจังให้เป็นวิถีชีวิต ด้วยการร่วมกันกำจัดยุงลายตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
จากข้อมูลในปี 2559 พบผู้ป่วย 156,943 ราย เสียชีวิต 43 ราย สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 320,000 ราย (เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา) จังหวัดที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการระบาดเป็นวงกว้างมี 7 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง กรุงเทพฯ ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต อยุธยา และพะเยา (ประเมินความเสี่ยงรายจังหวัด โดยพิจารณาจากอัตราป่วยเฉลี่ยสามปีล่าสุด) กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด
จากข้อมูลในปี 2559 พบผู้ป่วย 75,796 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นเด็กเล็กอายุ 9 เดือน–5 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก พบบ่อยในช่วงฤดูฝน และพบเป็นการระบาดแบบปีเว้นปี การพยากรณ์โรค ปี 2560 จึงคาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 42,000 ราย ซึ่งโรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง และอุจจาระของผู้ป่วย ส่วนวิธีป้องกันคือรักษาความสะอาดร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากมีเด็กในสถานศึกษาป่วยโรคมือ เท้า ปาก ต้องแยกเด็กป่วยออก ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
จากข้อมูลในปี 2559 พบผู้ป่วย 3,171 ราย เสียชีวิต 6 ราย จะพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากการสัมผัสดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อเข้าทางบาดแผล การสำลักหรือกลืนน้ำ หรือหายใจเอาละอองฝุ่นของดินที่มีเชื้อปนเปื้อน ส่วนอาการมีตั้งแต่ไม่มีอาการเลย หรือมีจุดที่ปอดแต่ไม่แสดงอาการ จนถึงมีฝีที่ผิวหนัง ฝีที่อวัยวะภายใน เนื้อเยื่อปอดอักเสบตาย หรือติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต คำแนะนำผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และผู้ที่มีบาดแผลควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินหรือแหล่งนํ้า เช่น ในนาข้าว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรคชุกชุม ประชาชนทั่วไป ควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือหากจำเป็นต้องรีบทำความสะอาดหลังเสร็จงานทันที
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 2 เรื่อง ดังนี้
1. ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส
โดยตั้งแต่ปี 2551-2559 พบผู้ป่วยหมดสติขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส รวมทั้งสิ้น 16 เหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 6 ราย ทุกเหตุการณ์เป็นเครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่มี มอก. ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคเหนือ ระหว่างเดือน ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี และมีหลายเหตุการณ์ที่มีการอาบน้ำต่อเนื่องกันหลายคนและผู้ป่วยหรือเสียชีวิตเป็นผู้ที่อาบน้ำในลำดับหลังๆ สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2560 คาดว่าในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นเทศกาลท่องเที่ยวของทุกปี (ม.ค.-ก.พ. 60) ประชาชนต้องระมัดระวังและเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดภัยดังกล่าว และ
2. การเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน
จากข้อมูลปี 2557-2559 พบผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีแนวโน้มสูงในเดือนธ.ค.–มี.ค. โดยมีผู้ป่วยเฉลี่ยเดือนละ 8,000–8,500 ราย สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2560 คาดว่าช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ของทุกปี เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะทางภาคเหนือซึ่งจะอุณหภูมิต่ำและมีหมอกควันหนาขึ้น มีผลกระทบทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ได้แก่ โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจทำให้อาการกำเริบรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว
สำหรับมาตรการในการดำเนินงานเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งหน่วยงานในส่วนกลาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจจับ คัดกรองโรคและภัยสุขภาพ และเตรียมพร้อมทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) รวมถึงการตอบโต้โรคและภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด โรงเรียน และประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงลดการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้
หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422