พบยาชนิดใหม่ ช่วยฟื้้นฟูความจำผู้ป่วยอัลไซเมอร์
สมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์ Alzheimer’s Association ประเมินว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 47 ล้านคน ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ
เป็นที่ทราบกันว่าอาการหลักของโรคอัลไซเมอร์คือการสูญเสียความทรงจำ และในที่สุดนำไปสู่การเสียชีวิต
ความพยายามหาทางรักษาและบรรเทาอาการของโรคดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยสองแห่งในสหราชอาณาจักร คือ University of Leicester และ University of Glasgow พบยากลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแต่ชะลออาการของโรค แต่อาจสามารถฟื้นฟูความทรงจำ ทั้งยังอาจรวมถึงยืดอายุผู้ป่วยโรคนี้ได้ หลังวิเคราะห์ผลการทดลองกับหนู
ยากลุ่มที่ว่านี้คือ Allosteric ligands ซึ่งมีประสิทธิภาพต่อโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ
การเสื่อมถอยของการทำงานของสมองในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นเมื่อโปรตีนในสมองส่วน hippocampus มีประสิทธิภาพอ่อนลง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทดลองใช้ยาขนานใหม่ที่ว่า นักวิจัยพบว่าโปรตีนชนิดดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า M1 miscarinic receptor ถูกกระตุ้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในการทดลอง นักวิจัยเกิดความหวังที่ว่าการกระตุ้นการทำงานของโปรตีนนี้อาจช่วยชะลออัตราการเสื่อมของสมองและฟื้นฟูความจำได้ด้วย
อาจารย์ Andrew Tobin จากมหาวิทยาลัย Glasgow พบว่ายาที่ใช้สามารถยืดอายุของหนูในการทดลองด้วย
การค้นพบนี้เป็นเครื่องต่อยอดความรู้เรื่องการรักษาและบรรเทาอาการของโรคอัลไซเมอร์ เพราะองค์ความรู้ที่มีมามุ่งเน้นไปที่การรักษาอาการ แต่การวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อังกฤษในครั้งนี้เป็นการรักษาโรคโดยตรง
อย่างไรก็ตามอาจารย์ Andrew Tobin กล่าวว่าน่าจะใช้เวลาอีกราว 5 ถึง 10 ปี กว่าที่การศึกษาในห้องทดลองกับหนูจะสามารถทำให้เกิดยารักษาอัลไซเมอร์ที่ใช้กับมนุษย์ได้