ปวดท้องแบบไหน ถึงเป็น “กระเพาะอาหารอักเสบ”

ปวดท้องแบบไหน ถึงเป็น “กระเพาะอาหารอักเสบ”

ปวดท้องแบบไหน ถึงเป็น “กระเพาะอาหารอักเสบ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปวดท้องทีไร เอะอะๆ ก็คิดว่าน่าจะมาจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบกันหมด ไปหายาเคลือบกระเพาะอาหารมาทานกันใหญ่ ทั้งที่จริงแล้วบางคนยังไม่เคยไปตรวจกับหมอเลยด้วยซ้ำว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจริงหรือเปล่า

อาการปวดท้องของโรคกระเพาะอาหารมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนอาการปวดท้องของโรคอื่นๆ จะมีอะไรบ้าง Sanook! Health มาบอกให้เพื่อนๆ ได้รู้เอาไว้ ปวดท้องคราวหน้าจะได้ไม่ทึกทักเอาเองว่าเป็นโรคกระเพาะเนอะ

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เกิดจากอะไร?

การเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

  • สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ โคลา หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้มักจะไปกระตุ้นอาการของโรคกระเพาะอักสับให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยจะมีการเข้าไปทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกกระเพาะอาหารและกระตุ้นให้เซลล์เยื่อเมือกสร้างกรดเพิ่มขึ้น

  • กระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร

  • การกินยาต้านการอักเสบ หรือยาแก้อักเสบ หรือยาแก้ปวดในกลุ่มเอนเสดส์ ซึ่งเป็นการกินยาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ยาแอสไพริน หรือยาในกลุ่มสเตียรอยด์ โดยยาในกลุ่มดังกล่าวจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบ และก่อให้เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้

  • ติดเชื้อไว้รัสบางชนิด

  • ติดเชื้อราบางชนิด ซึ่งมักจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคเอดส์

  • เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภูมิต้านทานในตัวเองบกพร่อง

  • เป็นโรคที่เกิดจาการที่น้ำของตับไหลท้นเข้าสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งตามปกติจะอยู่ในเฉพาะในลำไส้เล็กเท่านั้น โดยน้ำดีจะก่อให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของเซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร

  • เกิดความเครียด เพราะเมื่อไหร่ที่มีอาการเครียด ก็จะเป็นการกระตุ้นให้เซลล์กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตัวกรดเองจะทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้เกิดการอักเสบต่อเยื่อเมือกบุกกระเพาะอาหาร

  • ดื่มกรด หรือด่าง โดยที่ทั้งกรดและด่างนั้นต่างก็ก่อให้เกิดการระคายเคืองและเกิดการอักเสบของเซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง

  • เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้เกิดความเครียดสูง ส่งผลกระทบทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากฉับพลัน เช่น อุบัติเหตุต่อสมอง หรือหลังการผ่าตัดใหญ่ เช่น การผ่าตัดสมอง หรือช่องท้อง ทำให้กระเพาะอาหารเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง หรืออาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

 

โรคกระเพาะอาหารอักเสบรุนแรงหรือไม่?

โดยปกติแล้ว โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้เสมอ โดยการใช้ยาและการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่หากเกิดผลข้างเคียงจากการเป็นโรคแล้ว ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้จากการที่มีเลือดออกไม่หยุดในบริเวณที่มีอาการอักเสบ และเมื่อเกิดการอักเสบเรื้อรัง ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหารได้

 

โรคกระเพาะอักเสบ มีผลข้างเคียงอย่างไร?

เมื่ออาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบมีความรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้มีเลือดออกจากเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร ส่งผลข้างเคียงให้เกิดการอาเจียนเป็นเลือด หรือทำให้อุจจาระมีสีดำเหมือนยางมะตอย หากทำการรักษา แต่ยังทำการควบคุมสาเหตุการเกิดไม่ได้ ทำให้มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง อย่างแรก ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (โรคแผลเปบติด) มีภาวะซีด และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้

  1. บริเวณที่ปวด

หากเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ จะปวดท้องบริเวณกลางท้อง เหนือสะดือ หรือบริเวณลิ้นปี่

 

  1. ลักษณะที่ปวด

ปวดแบบจุก เสียด แน่น โดยจะปวดมากแบบกะทันหัน หรือปวดๆ หายๆ แบบเรื้อรังก็ได้

 

  1. ระยะเวลาที่ปวด

หากเป็นอาการปวดท้องแบบเรื้อรัง จะมีอาการปวดๆ หายๆ อยู่นานร่วมเดือน โดยระดับความเจ็บปวดจะอยู่ในระดับที่พอทนไหว และมักจะเกี่ยวข้องกับมื้ออาหาร คือปวดท้องเมื่อหิว หรือเมื่ออิ่ม และเมื่อรับประทานยาลดกรนก็จะมีอาการดีขึ้น

 

  1. อาการอื่นๆ นอกจากปวดท้อง

หากเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสยที่รุนแรงขึ้น อาจไม่ได้มีเพียงอาการปวดท้องอย่างเดียว อาจรวมไปถึงอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยอาจอาเจียนออกมาพร้อมน้ำย่อย หรืออาเจียนเป็นเลือด นอกจากนี้ยังอาจอุจจาระเป็นสีดำ ซึ่งเป็นผลมาจากกระเพาะอาหารอักเสบจากการมีแผล และมีกรดเกิน แสบร้อนกลางอกจากอาการกรดไหลย้อน หรือแม้กระทั่งอาการไอ เพราะมีอาการอักเสบขึ้นมาถึงคอ

 

  1. กระเพาะอาหารอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ

นอกจากเรื่องของการทานอาหารไม่เป็นเวลาอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจกันแล้ว โรคกระเพาะอาหารอักเสบยังอาจมีสาเหตุมาจากการบีบตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ไม่ประสานกัน หรือสภาพกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป แต่ไม่ได้ทำให้เป็นแผล เป็นต้น

 

สิ่งที่เราควรทำเมื่อเรามีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ แรมเดือน คือเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการซื้อยาทานอาจเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด และอาจมีความผิดปกติในร่างกายที่เราอาจไม่ทราบมาก่อนก็เป็นได้ ก่อนที่จะมีอาการหนัก

นอกจากนี้หากอยากเลี่ยงโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ควรทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ ทานอาหารให้ตรงเวลา ลดการทานอาหารรสจัด เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน และอย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอ เท่านั้นก็ช่วยลดอาการผิดปกติของกระเพาะอาหารได้มากแล้วล่ะค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook