“เชื้อไวรัสโนโร” ปราบได้ด้วย “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
Thailand Web Stat

“เชื้อไวรัสโนโร” ปราบได้ด้วย “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”

“เชื้อไวรัสโนโร” ปราบได้ด้วย “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเชื้อไวรัสโนโร ไม่ใช่เชื้อไวรัสชนิดใหม่และไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ พบมากในกลุ่มเด็ก แนะนำผู้ปกครองดูแลความสะอาด ใส่ใจสุขอนามัยของตนเองและบุตรหลานอย่างใกล้ชิด  เน้นยึดการปฏิบัติ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยเฉพาะการล้างมือ ขอให้ดูแลเด็กให้ล้างด้วยสบู่และน้ำบ่อยๆ และนานๆ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากกรณีที่มีการส่งต่อข่าวกันในโซเซียลมีเดียว่าพบเด็กติดเชื้อไวรัสโนโรและมีอาการหนักในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จากการตรวจสอบพบว่าเด็กรายนี้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโนโรและได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลดังกล่าวจริง  แต่ในส่วนของเชื้อไวรัสโนโร  กรมควบคุมโรค  ขอชี้แจงว่า ไวรัสโนโร (Norovirus) ไม่ใช่เชื้อไวรัสชนิดใหม่และไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่  เชื้อนี้เป็นเชื้อดั้งเดิมที่รู้จักกันมานานมากกว่า 40 ปี แต่เดิมไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในประเทศไทย เนื่องจากในอดีตไม่ค่อยพบการระบาดในคนหมู่มาก และการตรวจเชื้อเป็นไปด้วยความยุ่งยาก จึงมักไม่ได้ทำการตรวจหาเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วง

แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการวินิจฉัยที่ก้าวหน้าขึ้นจึงตรวจพบเชื้อไวรัสโนโรได้มากขึ้น ซึ่งปกติแล้วเชื้อนี้ไม่ได้ทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเกิดภาวะไตวายโดยตรงเหมือนกับเชื้ออื่นๆ เช่น เชื้ออีโคไล  แต่เด็กก็อาจมีอาการไตวายได้หากดูแลหรือเข้ารับการรักษาไม่ทัน เช่น ขาดน้ำมากๆ เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสโนโรนี้ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรืออาการท้องเสียได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มเด็กวัยเรียน

สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมีเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอยู่หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือการปนเปื้อนสารพิษต่างๆ เป็นต้น แต่สาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยครั้งคือ จากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือ ไวรัส นอกนั้นพบได้บ้างประปราย จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตลอดทั้งปี 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 137,675 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี  ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ขอนแก่น อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อํานาจเจริญ และปราจีนบุรี

Advertisement


ไวรัสโนโรในประเทศไทยสามารถพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาวจนถึงฤดูหนาว ติดต่อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ หรือสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย เชื้อไวรัสนี้มีความคงทนในสิ่งแวดล้อมมาก หากผู้ป่วยเข้าห้องน้ำแล้วไม่ได้ล้างมือหรือล้างไม่สะอาด แล้วไปจับลูกบิด ประตู หรือก๊อกน้ำ เชื้อโรคก็ยังอยู่ สำหรับสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อได้คือ ฟอร์มาลีน กลูตารอลดีไฮด์ และสารประกอบจำพวกคลอรีนที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป เป็นต้น ไวรัสโนโรนั้นมีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมง และติดต่อได้ง่าย ถึงแม้มีเชื้อปริมาณน้อยก็ทำให้เกิดอาการได้ และมักมีอาการปรากฏอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักทำให้มีอาการอาเจียน  อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องเสีย และอาจมีไข้ต่ำๆ ได้ โดยอาการจะปรากฏประมาณ 2-3 วัน ส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการขาดน้ำ ต้องให้น้ำเกลือหรือนอนโรงพยาบาล

ทั้งนี้ อาหารที่มักก่อให้การติดเชื้อไวรัสโนโรได้บ่อย ได้แก่ น้ำ/น้ำแข็งที่ปนเปื้อนเชื้อ และอาหารประเภทหอย ส่วนการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ  อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น อาเจียนมาก ถ่ายบ่อย หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด  ขอให้รีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน  โดยโรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค และไม่มียารักษาจำเพาะ จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลความสะอาด ใส่ใจสุขอนามัยของตนเองและบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เน้นการปฏิบัติ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยเฉพาะการล้างมือ ขอให้ดูแลเด็กให้ล้างด้วยสบู่และน้ำบ่อยๆ และนานๆ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้