สาหร่าย อร่อยดีมีประโยชน์ หรือปนเปื้อนสารพิษ?
หากคุณเคยทานอาหารที่มีสาหร่ายเป็นส่วนประกอบ คุณจะต้องเข้าใจได้ดีว่าทำไมสาหร่ายถึงเป็นที่นิยมชื่นชอบกันมากมายทั่วเอเชีย อาจรวมไปถึงทั่วโลก โดยเฉพาะในไทยเอง ก็มีการนำสาหร่ายมาประกอบอาหารทั้งคาวหวานกันอย่างแพร่หลาย นอกจากโปรตีน และสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว สาหร่ายยังมีรสชาติที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “อูมามิ” รสชาติอร่อยกลมกล่อมตามธรรมชาติอีกด้วย
แต่สาหร่ายบางชนิดอาจเติบโตในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนสารพิษ เช่น สารหนู แคดเมียม และปรอท หากเราบริโภคสาหร่ายที่มีสารปนเปื้อนเข้าไปมากๆ อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ทั้งสารหนูในเลือด ต่อมหมวกไต และตับอ่อน อาจทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวลง หากเป็นแคมเมียม ก็จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และยังอาจเป็นสารพิษที่สะสมอยู่ในตับ เลือด และไตได้อีกด้วย นอกจากนี้เมื่อแคดเมียมมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงอาจเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจนได้อีกด้วย
สำหรับในประเทศไทย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทำการศึกษาปริมาณธาตุชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ประเภทสาหร่าย ทั้งชนิดที่เป็นวัตถุดิบและชนิดที่ปรุงรสแล้ว สถาบันฯ จึงทำการสุ่มตัวอย่างสาหร่ายที่มีจำหน่ายในท้องตลาด หลายๆ ยี่ห้อ (หลากหลายรสชาติ) สาหร่ายที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เกาหลี, ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงสาหร่ายน้ำจืดสไปรูลินา ที่นิยมบริโภคเป็นอาหารเสริม
ผลการศึกษา พบว่า ตัวอย่างสาหร่ายทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากเกาหลี ญี่ปุ่น และจีนทั้งหมด มีปริมาณสารหนูเกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขของไทย (>2 มก./กก.) โดยเฉพาะสาหร่ายที่นำเข้าจากจีน (ไม่ผ่านการปรุงแต่งรส) ซึ่งจะเป็นสาหร่ายแผ่นกลมที่นิยมนำมาทำเป็นแกงจืดหรือซุป มีปริมาณสารหนูเฉลี่ยสูงที่สุดและเกินค่ามาตรฐานทั้ง 5 ตัวอย่าง โดยค่าเฉลี่ยสูงถึง 37.9+7.0 มก./กก. (ค่าสูงสุด คือ 62.8 มก./กก.)
นอกจากนี้สาหร่ายทุกชนิดยังมีแคดเมียมในปริมาณค่อนข้างสูง มีสาหร่าย 13 ตัวอย่างจากทั้งหมด 51 ตัวอย่าง (25.5%) ที่มีปริมาณแคดเมียมเกิน 3.0 มก./กก. เป็นตัวอย่างสาหร่ายที่นำเข้าจากจีนและที่ผลิตในไทย ส่วนปริมาณอลูมีเนียมนั้น พบว่า ตัวอย่างสาหร่ายปรุงรสของไทย และสาหร่ายดิบจากจีน มีปริมาณอลูมีเนียมค่อนข้างสูง (โดยเฉลี่ย >20 มก./กก.)
ผลการวิเคราะห์ปริมาณธาตุในสาหร่ายน้ำจืดสไปรูลินา พบว่า มีปริมาณสารหนู แคดเมียม ตะกั่ว และอลูมีเนียม ต่ำกว่าสาหร่ายทะเลมาก (ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด) ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก สาหร่ายทะเลมักมีการปนเปื้อนธาตุเหล่านี้ เช่น สารหนู แคดเมียม ปรอท หรือตะกั่ว จากน้ำทะเล ซึ่งเป็นที่รองรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม โดยสารพิษเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในแม่น้ำซึ่งไหลลงสู่ทะเล หรือเกิดจากอนุภาคสารปนเปื้อนในอากาศ แล้วตกลงสู่ทะเล ทำให้สาหร่ายทะเลดูดซับสารพิษเข้าไปด้วย หรืออีกสาเหตุหนึ่ง อาจเป็นการปนเปื้อนธาตุต่างๆ นี้ จากขบวนการผลิต เช่น กรรมวิธีการแปรรูปสาหร่าย ซอสหรือเครื่องปรุงรสต่างๆ จึงทำให้สาหร่ายปรุงรสบางชนิด มีปริมาณสารหนู ตะกั่ว หรือแคดเมียมสูงกว่าสาหร่ายรสดั้งเดิม
ถึงแม้จะพบสารปนเปื้อนในสาหร่ายอยู่บ้าง แต่หากเราเลือกรับประทานสาหร่ายจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ และไม่ทานติดต่อกันนานจนเกินไป คุณก็ยังสามารถเพลิดเพลินกับการทานสาหร่ายได้เหมือนเดิม รับประโยชน์และสารอาหารดีๆ จากสาหร่ายได้เหมือนเดิมค่ะ