“คลอดก่อนกำหนด” ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ทุกคนควรระวัง
การให้กำเนิดลูกน้อยถือเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะครบกำหนดคลอดเมื่อมีอายุครรภ์ 37-41 สัปดาห์ คือประมาณ 9 เดือนโดยเฉลี่ย โดยคำนวณจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย หากทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ทางการแพทย์ถือว่าคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเกิดจากมดลูกมีการบีบตัวทำให้ปากมดลูกเปิดเด็กจึงคลอดออกมาก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนดเป็นความผิดปกติทางสูติกรรมอย่างหนึ่งและมีสถิติสูงเพิ่มขึ้นพบได้ 10 -12 % ของอัตราการคลอด เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้หญิงยุคใหม่มีแนวโน้มการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย
ปัญหาที่อาจขึ้นมีทั้งปัญหาด้านสุขภาพของทารก ที่การคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกเสียชีวิต มีความเสี่ยงต่อความพิการและทุพพลภาพ ปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะครอบครัวจะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแล เนื่องจากทารกคลอดก่อนกำหนดจำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และปัญหาของประเทศต่อไปในระยะยาว
สาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด
ในแต่ละปีมีเด็กที่คลอดก่อนกำหนดประมาณ 15 ล้านคน หรือ ทุกๆ 1 ใน 10 ของเด็กแรกเกิดทั่วโลก โดยในประเทศไทยพบอัตราการคลอดก่อนกำหนดมากกว่า12% ของการคลอด พบมากในคุณแม่ที่อายุต่ำกว่า 17 ปีหรือมากกว่า 35 ปี มีน้ำหนักตัวน้อยมาก เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน มีมดลูกผิดปกติหรือมดลูกพิการแต่กำเนิดและคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต และครรภ์แฝด
การใช้ชีวิตประจำวันก็ส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน อาทิ คุณแม่ที่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด การทำงานที่หนักเกินไป ความเครียด
นอกจากนี้ยังพบว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ปากมดลูกหลวม และมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะก็เป็นสาเหตุการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
วิธีตรวจหาความเสี่ยง ภาวะคลอดก่อนกำหนด
การวัดความยาวของปากมดลูกโดยการทำ Ultrasound ทางช่องคลอด เมื่ออายุครรภ์ 16-24 สัปดาห์ เป็นการตรวจสำคัญที่จะบอกถึงโอกาสเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด สำหรับสตรีที่มีความเสี่ยง สามารถป้องกันโดยการใช้ยากลุ่ม Progesterone การใส่ห่วงครอบปากมดลูก (Cervical pessary) และการเย็บปากมดลูก (Cervical cerclage) ซึ่งได้ผลดีในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการตรวจปัจจัยเสี่ยงและการป้องกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญในสตรีตั้งครรภ์ทุกราย