5 สัญญาณอันตราย “นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ”

5 สัญญาณอันตราย “นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ”

5 สัญญาณอันตราย “นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันก่อนเพิ่งเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊คโพสว่าอยู่โรงพยาบาล สอบถามได้ความว่าเป็นโรค “นิ่วกระเพาะปัสสาวะ” แถมเขายังบอกอีกว่า คุณหมอกล่าวว่าพบในวัยทำงานค่อนข้างบ่อย แถมยังเจอในทุกเพศทุกวัยอีกด้วย ไม่ได้การแล้ว Sanook Health ต้องรีบมาเตือนทุกคนระวังตัวกันด่วนๆ เลยค่ะ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร?

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นหนึ่งในโรคนิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่อาจเกิดนิ่วได้ทั้งในไต หลอดไต และกระเพาะปัสสาวะ โดยจะพบเป็นก้อนนิ่วเล็กๆ ตั้งแต่ขนาดเล็กกว่า 1 ซม. ไปจนถึงใหญ่กว่า 5 ซม. อาจมีก้อนเดียว หรือหลายก้อน และอาจมีลักษณะแข็งมาก ค่อนข้างแข็ง หรืออาจจะค่อนข้างนุ่มได้ ขึ้นอยู่กับสารประกอบที่ทำให้เกิดนิ่วของแต่ละผู้ป่วย ส่วนใหญ่กว่า 80% อาจจะพบเป็นสารแคลเซียมออกซาเลต นอกจากนี้อาจมีสารแคลเซียมฟอสเฟต แอมโมเนียมยูเรท กรดยูริก หรืออื่นๆ ได้

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีสาเหตุมาจากอะไร?

  • ปัสสาวะกักค้างในกระเพาะปัสสาวะเรื้อรัง หรือเป็นเวลานาน ทำให้มีการตกตะกอนของปัสสาวะ จนกลายเป็นก้อนนิ่ว
  • กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองเรื้อรัง
  • ก้อนนิ่วอาจจะตกมาจากไต แล้วมาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะแทน
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป จนทำให้ปัสสาวะเข้มข้น เกิดอาการตกตะกอนจนเป็นก้อนนิ่วได้ง่ายขึ้น
  • รับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีแคลเซียม ออกซาเลตสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น โยเกิร์ต ถั่วรูปไต ถั่วเหลือง งา ลูกนัท ผลเบอร์รีต่างๆ มะเดื่อ แครอท บีทรูท มะเขือ ผักกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลิ หัวหอม มะเขือเทศ ผักกะเฉด และยอดผักทั้งหลาย

ใครที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ?

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อาจพบในวัยทำงาน และเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีอาการอย่างไร?

  1. ปวดท้อง บริเวณท้องน้อย โดยมีอาการปวดเรื้อรัง คือปวดเรื่อยๆ ไม่หาย และอาจมีอาการปวดหลังเรื้อรังร่วมด้วย

  2. ปัสสาวะมีสีผิดปกติ อาจมีสีขุ่นๆ เหมือนมีผงแป้ง หรืออาจมีเลือดปนเหมือนน้ำล้างเนื้อ บางครั้งอาจมีก้อนนิ่วหลุดออกมาด้วย

  3. มีอาการผิดปกติเมื่อปวดปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยเกินไป ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปวดแสบปวดร้อน ปัสสาวะขาดตอน ปวดเบ่ง หรือปัสสาวะหมดแล้ว แต่ยังรู้สึกปวดปัสสาวะอยู่ หรืออั้นปัสสาวะไม่ได้

  4. หากก้อนนิ่วหลุดไปอุดตันทีท่อปัสสาวะ อาจมีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง และปัสสาวะไม่ออก จนกระเพาะปัสสาวะอาจอักเสบจากการตกค้างของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ

  5. อาจมีอาการไข้ หรือปวดข้อร่วมด้วย

ป้องกันโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้อย่างไร?

ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นมากเกินไป จนตกตะกอนเป็นนิ่ว โดยแพทย์แนะนำว่าให้ดื่มน้ำราวๆ วันละ 2 ลิตรเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้การจำกัดอาการที่มีแคลเซียม และออกซาเลตสูง ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน (ทานได้ตามปกติ แต่อย่าทานอาหารเหล่านั้นเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานาน ควรทานอาหารให้หลากหลาย) 

หากใครมีอาการปวดท้องน้อยบ่อยๆ และรู้ตัวว่าดื่มน้ำน้อย หรือปัสสาวะผิดปกติ อย่าลืมปรึกษาคุณหมอโดยด่วน ก่อนที่จะมีอาการหนักไปมากกว่าเดิม เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนะคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook