ระวัง! ไขมันเกาะหัวใจ เสี่ยง “หัวใจขาดเลือด”

ระวัง! ไขมันเกาะหัวใจ เสี่ยง “หัวใจขาดเลือด”

ระวัง! ไขมันเกาะหัวใจ เสี่ยง “หัวใจขาดเลือด”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แน่นอนว่าหากพูดถึงไขมัน หลายคนก็จะนึกถึงคนที่ตัวใหญ่ๆ อ้วนๆ พุงโตๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะเห็นเป็นภาพแบบนั้น แต่ในความจริงแล้ว คนที่มีไขมันในร่างกายสูง อาจไม่ได้มีรูปร่างอ้วนท้วนอย่างเห็นได้ชัดเสมอไป

หากแต่ไขมันที่สะสมอยู่เฉพาะส่วนของร่างกาย เช่น ไขมันเกาะที่หัวใจ อาจเป็นส่วนที่เรามองไม่เห็น และตรวจพบได้ยาก ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือในบ้านเราอาจยังไม่พร้อมมากนัก แต่คนที่มีความเสี่ยงที่จะมีไขมันเกาะหัวใจมาก ก็คือคนที่มีไขมันสะสมในช่องท้องมาก หรือคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานนั่นเอง

หากมีไขมันมาเกาะที่หัวใจมากเกินไป อาจเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ ภาวะหัวใจขาดเลือดเป็นอย่างไร มีวิธีช่วยลดไขมันที่เกาะที่หัวใจออกไปได้หรือไม่ มาดูคำตอบของคุณหมออาคิ จาก เฟซบุ๊คเพจ Dr.Aki – หมออาคิ กันค่ะ

____________________

 

<< ไขมันเกาะหัวใจมากเกิน ก่อโรคหัวใจขาดเลือดได้ >>

ทราบหรือไม่ว่าหัวใจของเราทุกคนมีไขมันเกาะอยู่ ด้วยเพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่ต้องใช้พลังงานอย่างมากมาย ไขมันที่เกาะบนหัวใจเหล่านี้จึงเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับหัวใจ ปัจจุบันเราสามารถตรวจวัดปริมาณไขมันเกาะหัวใจโดยอาศัยเครื่องมือต่างๆได้ อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาทางการแพทย์ที่ผ่านมาชี้ว่า “ไขมันที่เกาะหัวใจ” เหล่านี้เมื่อมีมากเกินไปกลับก่อผลเสียกับหัวใจเองอย่างรุนแรงเกิดเป็น “โรคหัวใจขาดเลือด”

 

โรคหัวใจขาดเลือด คืออะไร?

“โรคหัวใจขาดเลือด” เป็นภาวะที่หัวใจได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เนื่องจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตัน ไม่ว่าจะด้วยจากเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือลิ่มเลือดอุดกั้นเส้นเลือดหัวใจ โดยสาเหตุที่ทราบกันดีคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น แต่จากหลักฐานทางการแพทย์ต่างๆ พบว่า ถ้าปริมาณไขมันที่เกาะหัวใจมีมากเกินไปจะก่อให้เกิด “โรคหัวใจขาดเลือด” ได้เช่นกัน

 

ไขมันเกาะหัวใจ เป็นสาเหตุของหัวใจขาดเลือดได้อย่างไร?

สำหรับกลไกที่ไขมันเกาะหัวใจมากเกินก่อโรคหัวใจขาดเลือดได้อย่างไรนั้น ขั้นแรกเมื่อไขมันเกาะหัวใจมากขึ้นเรื่อยๆ จะกระตุ้นให้เกิดเส้นเลือดฝอยแตกแขนงออกจากก้อนไขมันไปสู่เส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ต่อมาก้อนไขมันเกาะหัวใจที่มากเกินนี้จะปล่อย “สารกระตุ้นการอักเสบ” ต่างๆ ผ่านทางเส้นเลือดฝอยเหล่านี้เข้าสู่ผนังเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ทำให้ผนังเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจเกิดการอักเสบ นานเข้าจึงกลายเป็นก้อนอุดตันเส้นเลือด สุดท้ายเป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงในที่สุด

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อ “ภาวะไขมันเกาะหัวใจมากเกิน”

การเพิ่มขึ้นของไขมันที่เกาะหัวใจมีสาเหตุเดียวกับไขมันสะสมในช่องท้อง ดังนั้นผู้ที่มีไขมันสะสมในช้องท้องมากก็จะมีโอกาสเป็นไขมันเกาะหัวใจมากเกินได้ การป้องกันภาวะไขมันเกาะหัวใจมากเกินจึงเป็นการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ

 

ไขมันเกาะหัวใจมากเกินควรทำอย่างไร?

ความรู้พื้นฐานที่ว่าหัวใจจะใช้พลังงานโดยการสลายไขมันที่เกาะหัวใจ วิธีการลดไขมันที่เกาะหัวใจที่ดีที่สุดจึงเป็นการกระตุ้นให้หัวใจได้ทำงานมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การวิ่ง ขี่จักรยาน หรือ เดินเร็ว แค่เพียงวันละ 30 นาที ก็สามารถลดปริมาณไขมันที่เกาะหัวใจได้อย่างยอดเยี่ยม

 

____________________

แม้ว่าไขมันเกาะหัวใจอาจจะตรวจได้ยากอยู่สักหน่อย แต่การป้องกันที่ดีที่สุด แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นถึงสุขภาพหัวใจข้างในร่างกายของเราก็ตาม คือการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ ที่ช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ทำงาน และพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ที่สำคัญคือทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส ไม่เครียด เท่านี้ก็ดีกว่ายาตัวใดๆ บนโลกแล้วล่ะค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook