ปวดกราม ปวดขากรรไกร สัญญาณอันตรายของวัยทำงาน
โรคนี้ไม่เพียงแต่เกิดจากความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ข้อต่อขากรรไกร หรือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยว เช่น กล้ามเนื้อ masseter, temporalis, lateral pterygoid ด้วย ข้อต่อขากรรไกรเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างกะโหลกศีรษะและขากรรไกรล่าง
ความผิดปกติของกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ข้อต่อขากรรไกรนี้ มักเกิดจากมีการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวมากผิดปกติ โดยเฉพาะถ้ามีความเครียด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดและมีการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อได้ ซึ่งอาจเกิดจากใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป หรือใช้ผิดประเภท เช่น เคี้ยวข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง เคี้ยวของแข็ง มีการสบฟันที่ผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างทำงานไม่สมดุลกัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติของการนอนกัดฟัน
อาการ
- ปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร (หน้าหู) หรือบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยว
- อ้า หรือหุบปากได้จำกัด (มีการจำกัดการความเคลื่อนไหวของขากรรไกร)
- เวลาเคลื่อนไหวขากรรไกร แล้วมีเสียงผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร เช่น เสียงคลิก หรือ เสียงกรุบกรับ
- อ้า หุบปาก หรือเคลื่อนไหวขากรรไกรแล้วมีอาการเจ็บหรือปวด
- ขากรรไกรค้าง (ไม่สามารถอ้าปากได้ หรืออ้าปากแล้วไม่สามารถหุบได้)
- ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการปวดบริเวณใบหน้า ซีกใดซีกหนึ่งก็ได้
อาการแสดง
- เวลากดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวข้างที่เจ็บ แล้วมีอาการเจ็บ
- เวลากดข้อต่อขากรรไกรข้างที่เจ็บ แล้วมีอาการเจ็บ
- มีการเบี่ยงเบนของขากรรไกรล่าง เวลาเคลื่อนไหว
การรักษา
1) รับประทานยาลดการอักเสบ และบรรเทาอาการปวด พวก nonsteroidal anti-inflammatory drugs(NSAIDs) Paracetamol ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาคลายกังวล (ซึ่งจะช่วยลดภาวะการทำงานมากผิดปกติของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อขากรรไกร)
2) แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง เช่น น้ำแข็ง หรืออาหารที่ต้องใช้แรงเคี้ยวมาก เช่น อ้อย โดยเฉพาะข้างที่เจ็บ
3) อาจใช้น้ำอุ่นประคบ กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ขากรรไกร
4) ควรปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อตรวจสอบการสบฟันว่ามีการสบฟันที่ผิดปกติ (malocclusion) ที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวของขากรรไกรที่ไม่สมดุลกัน ทำให้ปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกรหรือไม่
5) ถ้ามีอาการปวดมาก ทันตแพทย์อาจพิจารณาใส่ที่ครอบฟัน (bite appliance or splints) เพื่อทำให้การสบฟันคงที่ ลดแรงกระแทกต่อข้อต่อขากรรไกรที่เป็นปัญหา ช่วยลดอาการปวดได้ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกัดฟัน (bruxism)
6) ถ้าผู้ป่วยดีขึ้น อาจทำกายภาพบำบัด และกิจกรรมลดความเครียด
7) ถ้าให้การรักษาด้วยยาเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น ยังมีอาการปวดค่อนข้างรุนแรง หรือมีความผิดปกติภายในของข้อต่อขากรรไกร อาจพิจารณาผ่าตัดรักษา
ข้อมูลจาก
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARYขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล