กินอย่างไร เลี่ยงโรคไม่ติดต่อได้อยู่หมัด!
คุณกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ อยู่หรือไม่ โดยเฉพาะโรคที่เราคาดไม่ถึงอย่าง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs
ข้อมูลจากหนังสือ “กลุ่มโรค NCDs โรคที่คุณสร้างขึ้นเอง” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า กลุ่มโรค NCDs นั้นเกิดจากการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ทานอาหารที่มีรสชาติจัดจนเกินไป เช่น หวานจัด มันจัด หรือเค็มจัด รวมถึงการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ ซึ่งอาการในกลุ่มโรค NCDs นี้ จะไม่ป่วยโดยทันที แต่จะค่อยๆ สะสมจนก่อเกิดโรคต่างๆ ในอนาคต ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคอ้วนลงพุง และโรคความดันโลหิตสูง
แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองแล้ว ก็สามารถลดความเลี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ได้เช่นกัน
อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สสส. กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้เกิดโรค NCDs ไม่ใช่เฉพาะอาหารอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมการดูแลสุขภาพทั้งหมด โดยพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์สามารถนำไปสู่ โรค NCDs อย่างเช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรามาก นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย และการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการมีความเครียด กังวล ก็นำไปสู่โรค NCDs ได้เช่นกัน
ปัจจุบันพฤติกรรมเสี่ยงที่เห็นได้ชัด ที่เป็นปัจจัยนำไปสู่โรค NCDs คือ ‘การกินอาหาร’ โดยเฉพาะการกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ดังนี้
1. กินแต่คาร์โบไฮเดรต เช่น การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะได้แต่แป้ง ทำให้ขาดสารอาหารประเภทวิตามิน โปรตีน และแร่ธาตุ นำพาไปสู่โรคอ้วนได้
2. กินแต่ข้าวขัดขาว ทำให้ได้รับไฟเบอร์ หรือ ใยอาหารน้อย ควรกินข้าวกล้อง หรือขนมปังโฮลวีทร่วมด้วย
3. กินเฉพาะเนื้อสัตว์ใหญ่ๆ เป็นประจำ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อเป็ด เนื้อไก่ เพราะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ถ้าใช้ไม่หมด ร่างกายจะแปรรูปเป็นไขมัน และเก็บสะสมไว้ในร่างกาย ส่งผลให้เป็นโรคอ้วนตามมา
4. การกินหวาน มัน เค็ม ซึ่งการกินหวาน หรือกินน้ำตาลในปริมาณมากเกิน ส่งผลทำให้เป็นโรคอ้วนได้ง่าย เพราะน้ำตาลถ้ากินเกินความต้องการของร่างกาย ก็จะกลายเป็นไขมันสะสมในร่างกายจนเกิดเป็นโรคอ้วน นอกจากนี้การกินอาหารมัน จะทำให้ไขมันไปสะสมในร่างกายนำไปสู่โรคอ้วนเช่นกัน สำหรับกินเค็มก็จะนำพาไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคไต
สิ่งเหล่านี้ คือ การกินอาหารที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs ทั้งนี้ อ.สง่า ได้แนะนำอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันการเกิดโรค NCDs คือกินผลไม้ที่หลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย โดยมีหลักการเลือกกิน ดังนี้
1. กินผลไม้ให้หลากหลาย ไม่ควรกินผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายๆ วัน เช่น กินแต่กล้วยน้ำว้าทุกวัน ควรกินผลไม้ชนิดอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เพระว่าผลไม้แต่ละชนิดที่มีสีแตกต่างกัน ต่างประเภทกันจะมีสารอาหาร และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือสารป้องกันมะเร็งที่แตกต่างกันไปด้วย หากเรากินผลไม้ที่หลากหลายแล้ว ก็จะทำให้ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่หลากหลายด้วยเช่นกัน
2. กินผลไม้ให้เพียงพอ ในแต่ละวันควรกินผลไม้ให้ได้ 3 ส่วนต่อ 1 วัน เช่น ส้ม 1 ลูก กล้วย 1 ลูก เท่ากับ 1 ส่วน สับปะรด มะละกอ แตงโมง 6-7 ชิ้นพอดีคำ แต่ละชิ้นถือว่า 1 ส่วน วันหนึ่งต้องกินให้ได้ 3 ส่วน จึงจะได้ปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย
3. เน้นกินผลไม้ที่มีรสหวานน้อย หวานปานกลาง และกินผลไม้ที่หวานจัดแต่ในปริมาณที่พอดี เพราะน้ำตาลที่อยู่ในผลไม้สามารถเปลี่ยนเป็นไขมันได้เช่นกัน ถ้ากินในปริมาณที่ร่างกายนำไปใช้ไม่หมด
4. หากในระหว่างมื้ออาหารเกิดความหิว ควรกินผลไม้แทนการกินขนมหวาน เพราะเป็นกลุ่มอาหารที่ให้พลังงานต่ำ และช่วยให้รู้สึกอิ่มได้นาน
5. กินผลไม้ตามฤดูกาล เพราะราคาถูก คุณค่าทางโภชนาการมากกว่าผลไม้ที่ออกนอกฤดูกาล และปลอดภัยจากสารเคมี
ผลไม้ทุกชนิดต้านโรคได้หมด มีโภชนาการเหมือนกัน เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ผลไม้แต่ละชนิดแต่ละสี สารอาหารอาจไม่เหมือนกัน แต่ที่มีในผลไม้ทุกชนิด คือวิตามินซี และผลไม้ที่มีสีอาจจะมีเบต้าแคโรทีนเยอะกว่าผลไม้สีชนิดอื่นๆ
การป้องกันโรค NCDs นั้น ทางที่ดีต้องป้องกันจากพฤติกรรมตามแนวทาง 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ รวมถึงการไม่ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ต้องคุมปัจจัยเหล่านี้ แล้วคุณจะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs