พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ : ต้นแบบของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ : ต้นแบบของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ : ต้นแบบของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วงปีที่ผ่านมา มีกระแสการสนับสนุน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจากหลากหลายองค์กรชั้นนำ เห็นได้ชัดว่าเรากำลังจะมีกฎหมายคุ้มครองชีวิตคนไทยที่ทันสมัยสุดๆ ซึ่งก็แน่นอนว่ากระแสดังกล่าวต้องสร้างความไม่พอใจให้กับผู้เสียผลประโยชน์ ที่หนักที่สุดคือ มีการปล่อยข่าวเท็จเกี่ยวกับความโปร่งใสของพ.ร.บ.ฉบับนี้

นั่นคือที่มาของการชี้แจงที่มาที่ไปของพ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่ทุกท่านกำลังจะได้อ่านในบรรทัดถัดไป โดยจะไล่เรียงตั้งแต่ความเป็นมาที่ต้องมีการออกกฎหมายฉบับใหม่ และขั้นตอนการยกร่างกฎหมายขึ้นมาพิจารณา ขอการันตีว่าทั้งหมดเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกๆ ขั้นตอน

เรื่องมีอยู่ว่าแต่ก่อนนี้เรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบอยู่ 2 ฉบับด้วยกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว เป็นธรรมดาที่เนื้อหาจะไม่ทันยุคสมัย และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในแง่การตลาดและผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ๆ

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่ม ทั้งในด้านกฎหมายและผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้มีความทันสมัยมากขึ้น ดูแลสุขภาพของประชาชนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

โดยทั่วไปแล้ว พ.ร.บ. ยาสูบก็มีเส้นทางเหมือนๆ กับกฎหมายอื่นๆ คือต้องมีคณะกรรมการมานั่งประชุมกันในประเด็นต่างๆ หากติดขัดในประเด็นไหนก็จะต้องเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาให้ข้อมูล ดังนั้น ที่มาที่ไปของพ.ร.บ.ฉบับนี้จึงไม่ได้มีแต่ความรู้และประสบการณ์ของคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น มีการเชิญนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์มาช่วยอธิบายเรื่องการโฆษณา การทำการตลาด การทำ CSR ของบริษัทยาสูบในปัจจุบัน และเอกสารงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและต่างประเทศ ทั้งหมดทั้งมวลนี้กินเวลาราวๆ 1 ปี กว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.ยาสูบฉบับที่พร้อมเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชน

นอกจากนี้ ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับแรกจะสำเร็จเสร็จสิ้น กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในหลายๆ ช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ อย่างเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย

เรื่องที่น่ายินดีคือ ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่างก็ตบเท้ามาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและขอตรวจสอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น ตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน นักกฎหมายจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ผู้แทนโรงงานยาสูบ สมาคมผู้ค้า และแน่นอนกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบหลายร้อยคน ทำให้กฎหมายฉบับนี้มีความเป็นมาที่โปร่งใสและสะท้อนผลประโยชน์ในระดับชาติอย่างแท้จริง


ถึงแม้ว่าเส้นทางของ (ร่าง) พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับนี้จะเป็นไปตามขั้นตอนอันดีงามที่เคารพผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายอย่างโปร่งใส แต่ก็ยังมีข้อครหาที่ถูกกุขึ้นมาโดยผู้ไม่หวังดี และส่งต่อโดยกลุ่มคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

บ้างก็ว่ามีการทำประชาพิจารณ์แบบ “จัดตั้ง” หรือทำพอเป็นพิธี ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงไปมาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการฯ ได้นำเอาข้อคิดเห็นจากทั้งในเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และเวทีรับฟังความเห็น เข้ามาประมวลผลแบบมาตราต่อมาตรา เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้หลงลืมประเด็นสำคัญอะไรไป

ยกตัวอย่างเช่น ชื่อของพ.ร.บ. ในช่วงแรกคือ "(ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ...” ซึ่งเป็นชื่อที่ทำให้เกษตรกรผู้ทำไร่ใบยาสูบไม่สบายใจ เพราะคิดว่าเป็นกฎหมายที่ใช้เอาผิดกับพวกเขา แม้จะมีการชี้แจงโดยคณะกรรมการฯ ไปในหลายๆ สื่อว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เพื่อความสบายใจของเกษตรกรและเพื่อความชัดเจนมากขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "(ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ...”

กระบวนการตรวจสอบและแก้ไขเหล่านี้ ใช้เวลาอีกปีกว่า เพื่อที่จะเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่อุดมไปด้วยข้อเท็จจริงและความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่ตกผลึกแล้ว พร้อมที่จะเป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองชีวิตคนไทยท่ามกลางเสียงสนับสนุนที่มีมากกว่าเสียงคัดค้านของผู้เสียผลประโยชน์

ภาพจาก getty Image

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook