จริงหรือไม่? ผู้ชายไม่สวมกางเกงใน เสี่ยงโรคไส้เลื่อน?
คุณผู้ชายหลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อโรคนี้กันแล้ว และน่าจะเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า “ไม่สวมกางเกงใน เสี่ยงโรคไส้เลื่อน” กันมาแล้วด้วย แค่ไม่ใส่กางเกงใน ก็เสียงเป็นโรคไส้เลื่อนได้จริงหรือ Sanook! Health มีคำตอบให้ค่ะ
โรคไส้เลื่อน มีสาเหตุมาจากอะไร?
โรคไส้เลื่อน เป็นอาการที่ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ อวัยวะภายใน หรือเนื้อเยื่อบางส่วนเคลื่อนตัวยื่นออกมานอกช่องท้อง จากบริเวณที่ผนังหน้าท้องไม่แข็งแรง อาจมีอาการเจ็บ หรือเห็นเป็นลักษณะก้อนๆ ยื่นออกมาให้เห็นได้ชัดเจนจากภายนอกได้
โรคไส้เลื่อน มีกี่ชนิด
ไส้เลื่อนไม่ได้มีชนิดเดียว แต่มีอยู่หลายชนิด โดยแบ่งออกเป็นตำแหน่งที่เกิดไส้เลื่อน มีทั้งไส้เลื่อนบริเวณอัณฑะ ไส้เลื่อนบริเวณผนังหน้าท่องส่วนล่าง ไส้เลื่อนโคนขาหนีบ ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ ไส้เสื่อนจากแผลผ่าตัด ไส้เลื่อนกระบังลม และบริเวณอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่อาจพบได้น้อย
ผู้หญิงเป็นโรคไส้เลื่อนได้หรือไม่?
ทุกเพศทุกวัย มีโอกาสเป็นโรคไส้เลื่อนได้หมด หากแต่ผู้ชายอาจมีความเสี่ยงมากกว่าเล็กน้อย จากการใช้ชีวิตโดยมีพฤติกรรมที่รุงแรงต่อผนังหน้าช่องท้องมากกว่าผู้หญิง
ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคไส้เลื่อน
สาเหตุที่ทำให้ผนังหน้าท้องขาดความแข็งแรง จนลำไส้ยื่นออกมาได้ มีดังนี้
- มีความผิดปกติของช่องท้องมาตั้งแต่กำเนิด อาจขาดกล้ามเนื้อท้องช่องบางส่วน ทำให้ลำไส้เลื่อนตัว ยื่นออกมานอกช่องท้อง บริเวณระหว่างช่องท่องกับลูกอัณฑะได้มากกว่าคนอื่นๆ
- อายุที่มากขึ้น อาจทำให้ผนังหน้าท้องเสื่อมลง จนขาดความแข็งแรง และลำไส้ยื่นออกมานอกช่องท้องได้
- เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงกับหน้าท้อง จนทำให้ผนังหน้าท้องบาดเจ็บ หรือเกิดความเสีบหาย
- มีภาวะแรงดันในช่องท้องสูง จากการออกแรงยกของหนัก ไอหรือจามอย่างหนักบ่อยๆ เบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นประจำ จนทำให้มีแรงดันในช่องท้องบ่อยๆ เป็นสาเหตุให้ผนังช่องท้องด้านหน้าถูกทำลายอย่างช้าๆ
- ผนังช่องท้องมีความอ่อนแอหลังการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เพราะเนื่อเยื่อในช่องท้องยังบอบบาง และขาดความยืดหยุ่น หากแผลผ่าตัดเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไส้เลื่อนมากขึ้น
- สูบบุหรี่
- เป็นโรคอ้วน
ดังนั้นการไม่สวมกางเกงใน ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไส้เลื่อนแต่อย่างใด
โรคไส้เลื่อน มีอาการอย่างไร?
- ปวดบริเวณที่เกิดไส้เลื่อน ปวดแบบตื้อๆ หน่วงๆ และเป็นๆ หายๆ
- บางรายอาจไม่มีอาการปวดเลย แต่พบก้อนเนื้อนูนๆ ออกมาบริเวณที่เกิดไส้เลื่อน
โรคลำไส้เลื่อน อันตรายมากไหม?
ในกรณีที่เป็นโรคไส้เลื่อน และมีอาการปวดเฉียบพลัน อาจอยู่ในภาวะลำไส้ขาดเลือด อาจต้องทำการผ่าตัดโดยทันที หากปล่อยให้มีอาการลำไส้ขาดเลือดนานๆ อาจทำให้ลำไส้เกิดเนื้อตายและเน่า จนเกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตได้
โรคไส้เลื่อน วิธีป้องกันอย่างไร?
- ควบคุมร่างกายไม่ให้มีแรงดันภายในช่องท้องมากเกินไป โดยหยุดอาการไอและจามเรื้อรัง และไม่ออกแรงยกของหนักเกินกำลังอยู่บ่อยๆ
- ระมัดระวังไม่ออกกำลังกาย โดยทำให้ผนังช่องท้องด้านหน้าเกิดอาการบาดเจ็บอยู่บ่อยๆ
- หากเพิ่งผ่าตัด ควรงดการออกกำลังกายหนักๆ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง
- รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- รัปประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ที่เพิ่มกากใยอาหาร เพื่อลดอาการท้องผูก
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ท้องผูกบ่อย ปวดท้อง หรือพบก้อนเนื้อนูนผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด