จริงหรือไม่? กินลิ้นจี่ตอนท้องว่าง เสี่ยงเป็นไข้-ชัก-พูดไม่รู้เรื่อง

จริงหรือไม่? กินลิ้นจี่ตอนท้องว่าง เสี่ยงเป็นไข้-ชัก-พูดไม่รู้เรื่อง

จริงหรือไม่? กินลิ้นจี่ตอนท้องว่าง เสี่ยงเป็นไข้-ชัก-พูดไม่รู้เรื่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งเคยได้ยิน ผลไม้ที่หลายคนชื่นชอบอย่าง “ลิ้นจี่” มีอันตรายถึงขั้นห้ามทานตอนท้องว่าง เพราะจะเกิดอาการผิดปกติกับร่างกายจริงหรือไม่ อาการจะเป็นอย่างไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร Sanook! Health ขออนุญาตนำคำตอบจากคุณหมอแมวจากเฟซบุ๊คเพจ ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว มาให้ได้อ่านกันค่ะ

____________________

ห้ามกินลิ้นจี่ตอนท้องว่าง ... จริงหรือ

ในช่วงปี 2533 ในพื้นที่การเกษตรห่างไกลของเวียดนาม บังคลาเทศและอินเดีย ได้เกิดปรากฎการณ์ประหลาดขึ้น เพราะเมื่อเข้าใกล้ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ จะมีเด็กป่วยหรือเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ

เด็กที่ป่วย ตอนเย็นจะยังดูมีอาการปกติ แต่ว่าในตอนเช้าวันถัดมาจะมีอาการซึม สับสน พูดคุยไม่รู้เรื่อง บางคนมีไข้ บางคนชัก แพทย์ที่ทำการตรวจในยุคนั้นพยายามตรวจหาสาเหตุไม่ว่าจะจากเชื้อโรค จากสารเคมี จากสารในผลไม้แต่ก็ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน

ในปีถัดๆมา เกิดเหตุการณ์เดียวกันขึ้นอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทุกปีเมื่อถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านก็จะกลัวกันว่าลูกของตนจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไป ... ที่อินเดีย ได้มีการตรวจเรื่องยาฆ่าแมลง เชื้อ แต่ก็ไม่ชัดเจน มีการควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลง และในปี2555มีการฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบขนานใหญ่ แต่ก็ยังพบว่าเด็กๆยังป่วยอยู่ ... ซึ่งทำให้เหลือเหตุผลที่เป็นไปได้อีกตัวนึงคือสารในผลไม้

 

สารในผลไม้ที่สงสัยกันคือสาร hypoglycin A และ methylenecyclopropylglycine ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้เป็นสารพิษในพืชบางชนิด จะไปยับยั้งการสร้างน้ำตาล ยับยั้งการใช้พลังงานจากกรดไขมัน ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน และเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ โดยสารนี้พบในผลไม้จาไมก้าที่ชื่อว่าอัคกี และทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคอาเจียนจาไมก้า

สำหรับผลไม้ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันก็คือ เงาะ ลำไย และลิ้นจี่ ก็มีสารนี้มากน้อยต่างๆกันไป

 

ห้ามกินตอนท้องว่าง???

หลังจากปี 2555 เมื่อพบว่าการฉีดวัคซีนก็ไม่ช่วยอะไร เลยมีการพุ่งเป้าไปที่สาร hypoglycin A ในลิ้นจี่ ... และมีการเก็บข้อมูลกันใหม่ โดยเมื่อมีคนป่วยก็ลองรักษาเสมือนมีภาวะน้ำตาลต่ำและตรวจหาสารนี้ไปเลย

ปรากฏว่าผลคือพบสารนี้ในเลือดของคนที่ป่วยจริงๆ

 

และเมื่อตรวจสอบย้อนกลับไป ลองถามดู จะได้ลักษณะที่ตรงกันคือ

  1. เป็นเด็ก
  2. มีภาวะขาดสารอาหาร อาหารการกินไม่ดี อดมื้อกินมื้อ
  3. มักจะมีประวัติว่าหายไปในสวนลิ้นจี่ ไปกินลิ้นจี่ทั้งวันจนอิ่ม และกลับมาโดยทั้งวันไม่กินอาหารหรือไม่กินอาหารเย็น

 

ทั้งนี้ไม่ได้เกิดกับเด็กทุกคน เพราะเด็กที่ทำแบบเดียวกัน ก็ไม่ได้เป็นก็มี ... แต่เนื่องจากหาสาเหตุอื่นไม่เจอและตรวจเจอสารที่เป็นไปได้ในเลือด ดังนั้นก็เลยสรุปว่าเป็นสารพิษในลิ้นจี่

 

แล้วเราจะทำยังไง

ก็อย่าเพิ่งตื่นตกใจจนเกินไป เพราะว่าเอาเข้าจริงๆ รายงานชัดๆมาจาก 3 แห่งคือเวียดนาม บังคลาเทศ และอินเดีย เป็นในบางพื้นที่ไม่ได้เป็นทุกที่ และเป็นเฉพาะในเด็กที่มีภาวะขาดอาหารไม่แข็งแรงอยู่เดิม และเป็นแค่บางคนไม่ได้เป็นทุกคนที่กิน

  1. อย่ากินลิ้นจี่ดิบ : เพราะมีสารพิษที่ว่ามากกว่าผลสุกประมาณ 2-3 เท่า
  2. อย่ากินลิ้นจี่อย่างเดียวทั้งวันแทนอาหาร
  3. อย่าขาดสารอาหาร : ในงานวิจัยบอกว่า อาการนี้พบในเด็กที่ขาดอาหาร ยากจน ซึ่งภาวะขาดอาหารจะทำให้มีพลังงานสำรองในตับลดลง

 

สรุป

สำหรับคนเป็นเบาหวานที่อยากจะกินลิ้นจี่เป็นยาลดน้ำตาล ก็ขอให้เบรกความคิดไว้ก่อนเพราะว่า

- งานวิจัยพบว่า ลิ้นจี่แต่ละลูกมีสารไม่เท่ากัน (ผลลดน้ำตาลเอาแน่นอนไม่ได้)

- ถ้ากินอาหารไปด้วยน้ำตาลก็อาจไม่ต่ำ

- ในผู้ป่วยบางรายพบภาวะไตวายร่วมด้วย

- ที่สำคัญในลิ้นจี่สุกก็มีน้ำตาล ถ้ากินเป็นล่ำเป็นสันและกินอาหารไปด้วย นอกจากน้ำตาลจะไม่ต่ำ เผลอๆได้น้ำตาลสูงแทน

 

ปล. ลำไยกับเงาะก็มีสารนี้ แต่ก็เหมือนกัน อย่าไปกินเพื่อหวังลดน้ำตาล

 

____________________

 

เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งตระหนกตกใจมากจนเกินไปนะคะ หากทานลิ้นจี่ที่สด สะอาด สุกกำลังดี และทานอย่างพอดี รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับรองว่าคุณจะสามารถเอร็ดอร่อยกับผลไม้ชนิดนี้ได้ต่อไปอย่างแน่นอนค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook