หินปูนที่ฟัน เกิดจากอะไร? ไม่เอาออกได้ไหม?
พวกเรากับหมอฟัน จริงๆ แล้วไม่ค่อยจะถูกกันเท่าไรว่าไหมคะ เพราะไปหาทีไร ต้องเสียเงินทุกที ถ้าฟันไม่ผุ ก็ต้องมีฟันคุด หรืออย่างน้อยต้องมีคราบหินปูน แต่เอ๊ะ... เจ้าคราบหินปูนนี้มายังไงนะ แปรงฟันตลอดแต่ทำไมยังมีคราบหินปูน มาดูคำตอบจากรายการ Did You Know? คุณรู้หรือไม่ กันค่ะ
หินปูนที่ฟัน คืออะไร?
หินปูน หรือที่บางคนเรียกว่า หินน้ำลาย เป็นการพัฒนามาจากคราบแบคทีเรีย พลาค (Plaque) หรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “ขี้ฟัน” มีลักษณะคล้ายฟิล์มใสๆ บางๆ เกาะตัวอยู่บริเวณโคนฟันใกล้ขอบเหงือก อาจมีสีออกเหลือง หรือเทาได้เล็กน้อย
คราบเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้หลังการแปรงฟันเพียง 2-3 นาที เป็นเมือกใสๆ ของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน
คราบหินปูน เกิดขึ้นได้อย่างไร?
หินปูนเกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียม และฟอสเฟต ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำลาย ขณะที่เรากำลังทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ที่มีแป้ง และน้ำตาล แล้วเราทำความสะอาดฟันไม่เพียงพอ แบคทีเรียที่อยู่ในปากของเรา ก็จะใช้น้ำตาลที่ติดอยู่ตามซอกฟันของเราเป็นแหล่งพลังงาน เพื่อสร้างกรด และสารพิษ
หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ แคลเซียมในอาหารก็จะเข้ามาเกาะรวมอยู่ด้วย จนทำให้เกิดเป็นคราบแข็งที่ติดแน่นมาก จนกลายเป็นหินปูนที่เราไม่สามารถแปรงฟันออกได้ด้วยตนเองในที่สุด ต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้ขูดหินปูนออกให้เท่านั้น
ไม่ขูดหินปูนออกจากฟันได้ไหม?
บางคนไม่อยากไปขูดหินปูนออกจากฟัน เพราะไม่อยากเสียเงิน แต่หากปล่อยให้หินปูนมาเกาะที่ฟัน หรือทับถมเพิ่มขึ้นนานๆ เข้า ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุได้ และยังอาจลามไปถึงเหงือกอักเสบ หรืออาจถึงขั้นทำลายรากฟัน จนอาจต้องทำรากฟันเทียม ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการไปขูดฟันหลายเท่านัก
ป้องกันการเกิดคราบหินปูนได้อย่างไร?
หากเราแปรงฟันให้ถูกวิธี เราก็จะป้องกันการเกิดคราบหินปูนได้ เราควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันหลังการแปรงฟัน รวมถึงการไปพบหมอฟันทุกๆ 6 เดือน เพื่อขูดเอาหินปูนออก