จริงหรือไม่? แพ้อาหาร ให้กินต่อไปจนกว่าจะหายแพ้?

จริงหรือไม่? แพ้อาหาร ให้กินต่อไปจนกว่าจะหายแพ้?

จริงหรือไม่? แพ้อาหาร ให้กินต่อไปจนกว่าจะหายแพ้?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หลายคนก็มีอาการแพ้จากอาหารที่แตกต่างกันออกไป เริ่มจากเบสิกๆ อย่างอาหารทะเล หรือแพ้ถั่ว ไปจนถึงแพ้อาหารแปลกๆ เช่น แพ้หัวหอม แพ้ผงชูรส แพ้น้ำผึ้ง แพ้นมวัว แพ้แอลกอฮอล์ แพ้อาหารหมักดอง หรือแม้กระทั่งแพ้แป้งก็ยังมี (ทานอาหารปกติที่มนุษย์คนอื่นทานแทบไม่ได้เลยทีเดียว)

แต่เชื่อว่าเหล่าคนที่มีอาการแพ้อาหาร ต้องเคยได้ยิน หรือบางคนก็เคยเป็น ว่าให้ทนกินอาหารที่ตัวเองแพ้เข้าไปเรื่อยๆ อาการแพ้จะหายไปได้เอง เรื่องนี้จริงเท็จขนาดไหน มีอันตราย หรือมีอัตราการหายจากอาการแพ้อาหารชนิดนั้นๆ ได้จริงหรือไม่ มาดูกันค่ะ

 

แพ้อาหาร เกิดจากอะไร?

อาการแพ้อาหารเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากอาการผิดปกติของร่างกายที่ทำปฏิกิริยากับผู้ป่วยไม่เหมือนคนอื่นๆ ร่างกายบางคนขาดสารบางอย่างที่ทำหน้าที่ย่อยสารอาหารบางชนิด จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารประเภทนั้นๆ ได้

อาหารบางอย่างทำปฏิกิริยากับภูมิแพ้ จนทำให้มีอาการเกิดขึ้นในทันที เช่น ผื่นขึ้น ปากบวม หน้าบวม ลิ้นบวม หายใจไม่ออก น้ำมูกน้ำตาไหล ส่วนใหญ่มักเป็นอาหารประเภทโปรตีน เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์บางชนิด หรือถั่ว

อาหารบางอย่าง ทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบ เช่น อาหารประเภทนมวัว นมถั่วเหลือง ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว รวมไปถึงทวารหนักอักเสบจนถ่ายเป็นเลือดได้ในบางกรณี

อาหารบางอย่าง อาจทำให้เกิดอาการลำไส้ผิดปกติ เพราะลำไส้ไม่สามารถดูดซึมอาหารบางประเภทได้ ทำให้การเจริญเติบโตของผู้ป่วยคนนั้นช้าลงไปด้วย เช่น อาหารประเภทนม ไข่ขาว ถั่วลิสง ปลา หรือไก่

นอกจากนี้ อาหารบางอย่างไม่ได้ทำให้เราแพ้ แต่เราแพ้สิ่งอื่นๆ ที่มาพร้อมกับอาหารเหล่านั้น เช่น แพ้สารที่ใช้แช่แข็ง ที่ติดมากับอาหารแช่แข็ง หรือแพ้สีสังเคราะห์ ที่มากับอาหารที่ใส่สารเหล่านี้ เป็นต้น

จึงจะเห็นได้ว่า สาเหตุของอาการแพ้อาหารมีอยู่มากมาย ขึ้นอยู่กับประเภทอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ แต่ส่วนใหญ่มักมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อย หรือดูดซึมสารอาหารชนิดนั้นๆ ได้ หรือมีปฏิกิริยากับผนังลำไส้ทันทีที่ทานเข้าไป

 

แพ้อาหาร เริ่มมีอาการตอนอายุมากขึ้นแล้วได้หรือไม่?

ส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้อาหารที่มาจากความผิดปกติของร่างกาย มักเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กๆ จนทำให้เราทราบว่าเราไม่สามารถทานอาหารชนิดนั้นๆ ได้ แต่มีบางครั้งที่ความผิดปกติของร่างกายดังกล่าว เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเราโตขึ้นเช่นกัน

 

เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราแพ้อาหาร?

- ครอบครัวมีประวัติแพ้อาหารบางประเภท

- มีอาการของโรคภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคหอบหืด โรคผื่นแพ้ หรือจาม/คัดจมูกบ่อยๆ

- เคยทานอาหารประเภทหนึ่ง แล้วมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังทานอาหารชนิดนั้นไม่กี่ชั่วโมง เช่น มีผื่นขึ้น หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม หายใจไม่ออก

- จดบันทึกอาหารที่ทำให้เกิดอาการ แล้วลองหยุดทานอาหารนั้นๆ 10-15 วัน แล้วสังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่

- พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด

 

แพ้อาหาร แต่ทนทานต่อไปจนกว่าจะเลิกแพ้ ได้หรือไม่?

จริงอยู่ที่มีความเป็นไปได้ว่า เด็กจะพบอาการแพ้อาหารได้หลายชนิดกว่าผู้ใหญ่ และมีโอกาสที่จะมีอาการดีขึ้นได้เมื่อโตขึ้น กล่าวคือ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่มีอาการแพ้อาหารประเภทนม ไข่ และข้าวสาลี อาจมีอาการที่ดีขึ้นได้เมื่ออายุโตขึ้น จากพัฒนาการทางร่างกายที่ค่อยๆ พัฒนาจนเต็มที่

แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอาการแพ้อาหารประเภทถั่ว และอาหารทะเล มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีอาการแพ้ไปตลอดชีวิต บางท่านเลือกที่จะค่อยๆ ทานต่อไปทีละเล็กทีละน้อย ด้วยความเชื่อว่าร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวจนชิน วิธีนี้อาจได้ผลเฉพาะกับบางคนที่มีอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น เพราะหากคุณเป็นคนที่มีอาการแพ้รุนแรง ถึงขั้นหายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ร่างกายสูบฉีดโลหิตเร็วและรุนแรง คุณอาจช็อค หมดสติ หรือเสียชีวิตเพียงเพราะอาหารคำเดียวได้เช่นกัน

นอกจากนี้ สำหรับอาการแพ้อาหารบางประเภท ที่เกิดจากร่างกายผิดปกติ ไม่มีตัวย่อยสารอาหารบางประเภทตั้งแต่แรกเกิด เช่น โปรตีน หรือกลูเต็นในแป้ง วิธีนี้อาจไม่ได้ผล และทำให้อาการแย่ไปกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการแพ้ที่เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองจากผนังลำไส้ ในผู้ป่วยบางราย เมื่อไม่ได้ทานอาหารที่มีอาการแพ้ไปนานๆ 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย เมื่อลองกลับมาทานใหม่ (ในปริมาณเล็กน้อย) อาจรู้สึกว่าไม่มีอาการแพ้ใดๆ เกิดขึ้น หรือบางคนได้รับยาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายปรับสภาพให้คุ้นชินกับอาหารเหล่านั้นได้ก็มีเช่นกัน

 

สรุปแล้ว ไม่ควรคิดไปเองว่า แพ้อาหารชนิดใดให้ทานต่อไปจนกว่าจะคุ้น เพราะวิธีนี้ไม่ได้ให้ผลดีต่อร่างกายเหมือนกันไปเสียทุกคน บางคนโชคดี แต่บางคนก็โชคร้าย จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตไปได้เพียงเพราะอาหารคำเดียว เพราะฉะนั้นใครที่อยากหายจากอาการแพ้อาหาร ขอให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามสาเหตุที่แท้จริง และหาแนวทางในการรักษาจะดีที่สุดค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook