"เมา ขับ ชน" โศกนาฏกรรมที่เจ็บแล้วไม่เคยจำ

"เมา ขับ ชน" โศกนาฏกรรมที่เจ็บแล้วไม่เคยจำ

"เมา ขับ ชน" โศกนาฏกรรมที่เจ็บแล้วไม่เคยจำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เมาแล้วขับ” เรื่องเดิมๆ ที่เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน มีคนตายนับไม่ถ้วน แต่ที่เลงร้ายกว่าคือดูเหมือนว่าเราจะชินกับเรื่องราวแบบนี้ จนไม่เห็นว่ามันคือปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ในทุกๆ วัน มีคนไทย 10 คนหรือปีละกว่า 3,000 คน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนเพราะมีคน “เมาแล้วขับ” สถิตินี้ชี้ให้เห็นชัดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหานี้ ความหมายของแต่ละชีวิตไม่ใช่แค่ลมหายใจที่หมดลง เพราะเขาอาจเป็นผู้ที่หาเลี้ยงปากท้องของครอบครัว เขาอาจจะเป็นความหวังของบ้าน เขาอาจจะเป็นว่าที่เจ้าบ่าว และเขาอาจจะเป็นอะไรอีกหลายๆ อย่างของคนข้างๆ

หนึ่งคนตาย มีหลายคนต้องเสียใจ และชีวิตของคนที่ยังอยู่จะต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล นี่คือเหตุผลที่เราควรยับยั้งโศกนาฏกรรมนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย เพราะไม่แน่ว่าวันหนึ่งมันอาจเกิดขึ้นกับเรา

…แต่ดูเหมือนว่ามันจะไม่ง่าย เพราะคนไทย 1 ใน 5 คน มีทัศนคติว่า “การดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติ" และจากการสำรวจโดยมูลนิธิไทยโรดส์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนไทยร้อยละ 37 เคยมีประสบการณ์เมาแล้วขับ ด้วยคิดว่าเรื่องเลวร้ายคงไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง

นอกจากนี้ กระบวนการทางกฏหมายก็ยังไม่ช่วยกระตุ้นเตือนความจำในเรื่องนี้ เพราะบทลงโทษจากการเมาแล้วขับนั้นไม่รุนแรง เทียบไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าโทษสูงสุดของการเมาแล้วขับชนคนตาย จะถูกแก้ไขเป็นติดคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 2 แสนบาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แทบจะไม่มีใครได้รับโทษจำคุกถึง 10 ปี ตามที่เขียนไว้ในตัวบทกฏหมายเลย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมเห็นว่า “เมาแล้วขับ” เป็นความผิดโดยประมาท จึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับกฏหมายอาญาที่ว่าด้วยเรื่องการกระทำการโดยประมาท ผู้ที่เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นต้องถึงแก่ชีวิต จึงมักจะได้รับโทษน้อยกว่าความเป็นจริง

มันคือวิธีปฏิบัติที่สวนทางกับประเทศที่เจริญแล้ว เพราะประเทศเหล่านั้นจะมองว่า เมาแล้วขับไปชนคนตาย คือ “เจตนา” ไม่ใช่ความประมาท และศาลยุติธรรมในประเทศเหล่านั้น เชื่อว่าแนวทางการพิพากษาในชั้นศาล คือการกำหนดแนวปฏิบัติของสังคมเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ในอนาคต

โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น การเมาแล้วขับจนทำให้มีผู้เสียชีวิต มีโทษรุนแรงรองจากความผิดฐานฆ่าคนตายเลยทีเดียว

เช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ ประเทศ ที่มีบทลงโทษรุนแรงสำหรับผู้ที่เมาแล้วขับ ในอเมริกา มีโทษสูงสุดคือจำคุก 20 ปี และในเกาหลีใต้โทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต เพราะถือเป็นโทษร้ายแรงพอๆ กับการฆ่าคนโดยเจตนา ประเทศเหล่านี้เคยอยู่ในจุดเดียวกันกับประเทศไทยมาก่อน คือการเมาแล้วขับจนทำให้มีผู้เสียชีวิต เคยเป็นการกระทำโดยประมาทในสายตาของผู้พิพากษาในประเทศเหล่านั้น

…แต่เมื่อสังคมต้องสะเทือนใจบ่อยครั้งขึ้น ท่าทีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเปลี่ยนไป หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเขาจดจำความโศกสลดนั้นไว้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ผลจากการเปลี่ยนแปลงของศาลยุติธรรม ทำให้ตัวเลขจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับตั้งแต่ปี 2001 - 2010 ลดลงจาก 25,400 ราย เหลือเพียง 5,553 ราย หรือลดลงถึง 78.1% และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับก็ลดลงจาก 1,191 ราย เหลือเพียง 287 ราย หรือลดลง 75.9%

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “โทษหนัก บังคับเข้ม” คือทางออกสำหรับเรื่องนี้ และคงไม่ยากนัก หากประเทศของเราจะดำเนินตามแนวทางนี้บ้าง หากไม่อยากเห็นโศกนาฏกรรมซ้ำซากบนท้องถนนอีกต่อไป เราคงต้องขอให้มีการพิจารณาลงโทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี และต้องกระตุ้นเตือนความจำของสังคมอยู่เสมอว่า “เมาแล้วขับ” คือพฤติกรรมอันตรายที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้อื่น และไม่ใช่แค่ความประมาท


[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook