มะนาว พริก เหล้าขาว ฆ่าพยาธิในปลาดิบได้หรือไม่?
ปลาดิบ หากเป็นเมนูญี่ปุ่นเราก็จะนึกถึงซูชิ ซาชิมิ แต่ถ้าเป็นเมนูแบบไทยๆ คงหนีไม่พ้นปลาส้ม ปลาร้า รวมไปถึงอาหารดิบอื่นๆ อย่างหอยนางรม ลาบก้อย กุ้งเต้น กุ้งแช่น้ำปลา และอื่นๆ
ปลาดิบมาพร้อมกับพยาธิที่น่ากลัว หลายคนจึงคิดหาวิธีฆ่าพยาธิให้ตาย ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การ “ปรุงให้สุก” เพราะยังอยากได้รสชาติดิบๆ แซ่บสะใจอยู่ โดยการใช้มะนาว พริก หรือการรับประทานพร้อมเหล้าขาว ที่มองว่าเป็นตัวช่วยในการฆ่าพยาธิ
แต่จริงๆ แล้วมะนาว พริก และเหล้าขาว สามารถฆ่าพยาธิได้จริงหรือไม่?
มะนาว อาจมีฤทธิ์เป็นกรด ที่หลายคนมองว่าสามารถทำให้เนื้อสัตว์สุกได้ด้วยฤทธิ์กรด จึงน่าจะมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิได้ด้วย รวมไปถึงพริกที่มีรสเผ็ดร้อนแรง และเหล้าขาวที่บางคนมองว่าเป็นแอลกอฮอล์ที่ทานได้ จึงน่าจะทำให้เนื้อสัตว์นั้นสะอาดไปด้วย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว พยาธิสามารถฆ่าให้ตายได้ด้วยวิธีการปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อนสูง หรือแช่แข็งในอุณหภูมิที่ต่ำมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น มะนาว พริก และเหล้าขาว รวมไปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ จึงไม่สามารถฆ่าพยาธิได้
อ่านต่อ >> พยาธิขึ้นสมอง... กับอาหารสุกๆดิบๆ
แต่ถ้าเป็นอาหารญี่ปุ่น และปลาสุกๆ ไม่ใช่คำตอบของคุณ เพราะเราเป็นสายปลาดิบ ถึงขนาดเพื่อนข้างตัวยืนยันว่า “แซลมอนใครเขากินสุกกัน” แต่ถ้าถามว่ากลัวพยาธิไหม?... เราก็กลัว!
เรามาดูวิธีเลือกรับประทานปลาดิบให้ปลอดภัยจากพยาธิกันดีกว่า
- เลือกปลาดิบที่เป็นเกรดสำหรับซาชิมิ
ถ้าเป็นสายอาหารญี่ปุ่นตัวจริงล่ะก็ คงจะทราบกันดีว่า ปลาดิบโดยเฉพาะแซลมอนที่เราทานเป็นเมนูซาชิมินั้น เป็นคนละแบบกับปลาแซลมอนที่ทานในเมนูยากินิขุ หรือปิ้งย่าง
ถ้าเลือกทานปลาดิบแบบซาชิมิเกรด จะเป็นปลาดิบที่ผ่านการแช่แข็งที่อุณหภูมิติดลบมากกว่า 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานมากกว่า 7 วัน หรืออาจจะแช่แข็งอยู่ที่อุณหภูมิ -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 12 ชั่วโมงขึ้นไป และจัดเก็บในถุงสุญญากาศเพื่อฆ่าพยาธิ และควบคุมไม่ให้แบคทีเรียเจริญเติบโต
ดังนั้นปลาดิบที่ทานเป็นซาชิมิ จึงมีราคาแพงกว่าปลาดิบที่เรานำมาทานแบบปิ้งย่าง และปลอดภัยจากพยาธิมากกว่าไปด้วยนั่นเอง
- สุขอนามัยของร้านอาหาร และเชฟ
การเลือกร้านที่สะอาด ถูกหลักอนามัย และทำการปรุงอาหาร จัดแต่งจานกันสดๆ เป็นจานๆ ไปนั้น ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะได้รับประทานปลาดิบที่สดใหม่ มีโอกาสที่แบคทีเรียจะเจริญเติบโตได้น้อย
- หีบห่อบรรจุปลาดิบ
ใครที่เป็นแนวชอบซื้อปลาดิบมาทานที่บ้าน ลองสังเกตบรรจุภัณฑ์ของปลาดิบให้ดี ปลาดิบที่บรรจุมาในถุงสุญญากาศช่องแช่แข็ง จะมีโอกาสปนเปื้อนแบคทีเรีย และพยาธิน้อยกว่าปลาดิบที่อยู่ในกล่องโฟม และปิดด้วยพลาสติกวางบนน้ำแข็ง
ดังนั้นปลาดิบที่บรรจุมาในถาดโฟม แล้ววางบนน้ำแข็ง จึงเหมาะกับการทานด้วยวิธีปรุงสุกมากกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงพยาธิที่อาจไม่ได้โดนฆ่าให้ตายด้วยวิธีแช่แข็ง
ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีวิธีไหนที่ป้องกันเราจากแบคทีเรีย และพยาธิในอาหารดิบได้ 100% แต่การเลือกทานตามวิธีดังกล่าว ก็ช่วยลดโอกาสได้มากพอสมควร และหากเทียบกับการทานเนื้อสัตว์บก หรือสัตว์น้ำจืด จะมีโอกาสพบแบคทีเรียและพยาธิมากกว่าสัตว์น้ำทะเลอยู่มาก ดังนั้นหากเป็นสัตว์บก และสัตว์น้ำจืด การปรุงให้สุกด้วยความร้อน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด