ก๊าซหุงต้ม ห้ามสูดดม เสี่ยงขาดออกซิเจน-หมดสติ-เสียชีวิต
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนอันตรายจากการสูดดมก๊าซหุงต้ม ทั้งแบบบรรจุถังและแบบกระป๋องสเปรย์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ตา และระบบประสาทส่วนกลาง หากสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคือง จมูกอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย และทำให้ขาดออกซิเจน จนหมดสติและอาจเสียชีวิตได้
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียน 2 คน ชั้น ป.6 โรงเรียนแห่งหนึ่ง นำกระป๋องสเปรย์ที่ใช้ในการหุงต้มขนาดเล็ก มาใช้สูดดมจนทำให้เสียชีวิต 1 ราย นั้น
กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลถึงอันตรายจากการสูดดมก๊าซหุงต้มว่า ปัจจุบันก๊าซหุงต้มมีทั้งแบบบรรจุถังใช้ตามครัวเรือนหรือใช้กับเครื่องยนต์ และแบบกระป๋องสเปรย์ที่นักท่องเที่ยวนำมาใช้หุงต้มในขณะทำกิจกรรมแค้มปิ้ง ซึ่งมีส่วนผสมของก๊าซไฮโดรคาร์บอน 2 ชนิด คือก๊าซโพรเพนและบิวเทน
อันตรายที่เกิดจากสัมผัสก๊าซหุงต้ม อาจก่อให้การเกิดแผลไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และตา เช่น เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ และตา โดยเกิดหลอดลมอักเสบ จมูกอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ
หากสูดดมเข้าไปจะทำให้ปริมาณก๊าซออกซิเจนในปอดลดลง ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลงตามไปด้วย ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการหายใจสั้น หัวใจเต้นเร็ว มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวไม่อยู่ หากขาดออกซิเจนอยู่นาน อาจทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำว่าห้ามนำก๊าซหุงต้มมาสูดดมโดยเด็ดขาด สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้อง ควรสวมถุงมือและทำงานในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความเข้มข้นของปริมาณก๊าซหุงต้มที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
ส่วนการปฐมพยาบาล มีดังนี้
- หากสัมผัสกับก๊าซหุงต้มในสภาพของเหลว จะเกิดอาการคล้ายหิมะกัด ต้องรีบทำให้บริเวณที่สัมผัสอบอุ่นขึ้น โดยแช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิไม่เกิน 41 องศาเซลเซียส และรีบส่งแพทย์
- หากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำอุ่นเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ถอดคอนแทกส์เลนส์ออก(ถ้ามี) เปิดเปลือกตา โดยให้เปลือกตาอยู่ห่างจากลูกตาเพื่อแน่ใจว่าล้างน้ำอุ่นได้อย่างทั่วถึง และรีบส่งแพทย์
- หากพบเห็นผู้สูดดมหรือได้รับก๊าซหุงต้มแล้วหมดสติ ต้องเคลื่อนย้ายผู้สูดดมไปยังที่มีอากาศถ่ายเท หากหยุดหายใจหรือหายใจผิดปกติ ให้ผายปอดหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ จากนั้นรีบนำส่งแพทย์ทันที
ที่สำคัญไม่ควรนำสารระเหยดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด เพราะการเผาไหม้ของก๊าซหุงต้มทำให้เกิดก๊าซหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการสูดดม อาจเกิดการขาดออกซิเจนเฉียบพลัน ทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังเป็นอันตรายสะสมระยะยาว เมื่อสูดดมก๊าซจะผ่านจากปอดไปสู่เลือด และจะสะสมในปริมาณสูงที่อวัยวะที่มีไขมันสูง คือสมอง รวมถึงพบการสะสมที่ตับ หัวใจ และไต ซึ่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้