5 เรื่องควรรู้ ปกป้องลูกน้อยจากไวรัส RSV
ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่บ้านเราอากาศแปรปรวนเหลือเกิน ทั้งร้อน ทั้งหนาว ทั้งฝน สลับกันไปจนสับสน ส่งผลทำให้หลายคนไม่สบายไปตามๆ กัน ผู้ใหญ่อย่างเราก็ดีหน่อย แต่สำหรับเด็กทารกหรือเด็กเล็กแล้ว มีไม่น้อยเลยมีอาการป่วยไม่สบาย
และในช่วงที่มีฝนตกแบบนี้ ถือเป็นโอกาสทองของเชื้อไวรัสต่างๆ ในการแพร่ระบาด หนึ่งในนั้น คือ เชื้อไวรัส RSV เป็นหนึ่งโรคติดต่อเชื้อไวรัสที่สำคัญต่อเด็กทารกและเด็กเล็กอย่างมาก ถือเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่ถูกพบจากลิงชิมแปนซีที่เป็นหวัด และพบว่าสามารถติดต่อไปสู่คนได้ เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน หรือปลายฝนต้นหนาว
ในวันนี้เราจะนำ 5 เรื่องที่ควรรู้ของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ศึกษา เพื่อที่จะรู้ทันและป้องกันก่อนที่จะเกิดกับลูกน้อยของคุณ
1. โรคระบาด อาร์เอสวี (RSV) คืออะไร
RSV มีชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจโดยเฉพาะ ส่วนมากจะไม่ค่อยแสดงอาการกับผู้ใหญ่ แต่จะแสดงอาการรุนแรงในทารกหรือเด็กเล็ก เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรง และเป็นไวรัสที่สามารถทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้
2. เชื้อไวรัส RSV สามารถติดต่อได้อย่างไร
การติดต่อของเชื้อไวรัส RSV มีลักษณะการติดต่อคล้ายไข้หวัด โดยสามารถติดต่อได้จากการไป จาม น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดจากสิ่งของที่ผู้มีเชื้อไวรัสไปสัมผัสได้อีกด้วย ฉะนั้นควรล้างมือทุกครั้งก่อนคลุกคลีกับเด็กๆ
3. สังเกตอาการได้อย่างไร
เนื่องจากโรคติดต่อเชื้อไวรัส RSV มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดา คุณพ่อคุณแม่เองควรสังเกตอย่างละเอียดว่าลูกน้อยของคุณมีอาการแบบนี้หรือไม่
1. หอบเหนื่อย
2. หายใจแรง หายใจตื้นๆ สั่นๆและเร็ว
3. อารมณ์ไม่ดี
4. กินนมน้อยลง หรือกินอาหารน้อยกว่าปกติ
5. มีอาการซึมเศร้า
6. มีเสมหะออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติ
7. ไอ ออกมาเป็นเสียงโขลกๆ หรือมีเสียงหวีดๆ ในปอด (เกิดจากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
8. ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการถึงขั้นตัวเขียว เป็นต้น
4. การรักษาโรคจากเชื้อไวรัส RSV
ในปัจจุบันโรคไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโดยเฉพาะ จึงต้องรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการที่ป่วย เช่น การให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ เป็นต้น ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรง มีอาการหอบ เหนื่อย มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ อาจจะต้องมีการพ่นยาขยายหลอดลมร่วมกับการให้ออกซิเจน หรือถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือเครื่องช่วยหายใจด้วย
5. การเฝ้าระวังและการป้องกัน
อย่างที่ได้อ่านไปในข้อที่แล้วว่าโรคไวรัสชนิดนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโดยตรง และถือเป็นโรคที่ติดต่อจากทางเดินหายใจ ดังนั้นควรปฏิบัติตนตามหลักการรักษาสุขลักษณะที่ดีดังนี้
1. ล้างมือบ่อยๆ หรือล้างมือก่อนที่จะสัมผัสเด็กๆ
2. หากมีการติดเชื้อหรือมีอาการ ควรสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
3. ถ้าเด็กมีอาการป่วย ควรแยกออกจากเด็กปกติและควรหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
4. และที่สำคัญถ้ามีอาการควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วย
ยิ่งในช่วงนี้ โดยเฉพาะภาคใต้เราที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันลูกน้อยของคุณให้ห่างไกลจากการเจ็บป่วย รวมทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่เองด้วย การรักษาสุขลักษณะดังที่กล่าวข้างต้นก็จะช่วยลดโอกาสของการติดเชื้อไวรัส RSV ได้
ที่สำคัญ คือการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และทำจิตใจของตนเองและคนรอบข้างให้แจ่มใส
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค RSV
- โรค RSV ติดเชื้อจากการหอมแก้ม? วิธีป้องกัน https://www.sanook.com/health/4301/
- RSV ไวรัสตัวร้าย ปล่อยไว้อันตรายถึงแก่ชีวิต https://www.sanook.com/health/8829/