ระวัง! อากาศยิ่งร้อน ยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตจากอาหารเป็นพิษ-อุจจาระร่วง

ระวัง! อากาศยิ่งร้อน ยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตจากอาหารเป็นพิษ-อุจจาระร่วง

ระวัง! อากาศยิ่งร้อน ยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตจากอาหารเป็นพิษ-อุจจาระร่วง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรค เตือนอากาศร้อนประชาชนควรระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เนื่องจากอาหารจะบูดเสียง่าย แนะนำให้รับประทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนและสะอาด ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงไว้นานๆ รวมถึงหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก หากมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง มีไข้ ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ 


นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้อาจส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มขึ้นด้วย เพราะอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่ายขึ้น ส่วนในน้ำก็จะพบการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นโรคที่ควรเฝ้าระวังในช่วงนี้คือโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงที่พบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลสำนักระบาดวิทยาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 กุมภาพันธ์ 2560 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 15,336 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้ว 123,420 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือกลุ่มเยาวชนและวัยทำงาน สำหรับปี 2559 มีรายงานผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษทั้งหมด 138,595 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 1,202,812 ราย เสียชีวิต 5 ราย

 

โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร?

โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดหรือปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งทั้งสองโรคนี้ต่างกันที่เชื้อโรคที่พบในผู้ป่วย มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารไม่สะอาด และในอาหารที่ปรุงไว้นานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อนทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น

 

โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง มีอาการอย่างไร?

ทั้ง 2 โรคมีอาการคล้ายกัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย

 

การดูแลผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง

1. ส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยการรักษาอาการขาดน้ำและเกลือแร่ ด้วยการดื่มสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส

2. กรณีที่เป็นเด็ก ให้เด็กรับประทานอาหารเหลวบ่อยๆ หากเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปและผู้สูงอายุ ให้รับประทานอาหารตามปกติ แต่ควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด

3. ผู้ป่วยไม่ควรงดอาหาร เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร

4. หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือดขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน


โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง มีวิธีป้องกันอย่างไร?

1. ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ และไข่ ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง

2. เพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองที่บ้าน อาหารสั่งซื้อ อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ

3. สำหรับอาหารเหลือต้องเก็บในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทานใหม่ แต่หากมีรสหรือกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด

4. ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดด้วยน้ำหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค

5. หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook