โรคลำไส้แปรปรวน โรคฮิตคนทำงาน
ผศ.พญ.มณฑิรา มณีรัตนะพร
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคลำไส้แปรปรวนไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่เชื่อว่าเป็นโรคที่สร้างความรำคาญ และส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และบั่นทอนคุณภาพชีวิตแก่ผู้ที่เป็นโรคนี้ จะมาบอกถึงสาเหตุและวิธีการรักษาค่ะ
โรคลำไส้แปรปรวน เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร?
โรคลำไส้แปรปรวนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเอง หรือจากปัจจัยภายนอก เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ความผิดปกติของชนิดแบคทีเรียหรือปริมาณแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร และอาจเกิดจากการรับประทานอาหารบางชนิดในปริมาณมาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดลำไส้แปรปรวนได้ นอกจากนั้นภาวะเครียดก็เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวนมากขึ้น
โรคลำไส้แปรปรวน มีอาการอย่างไร?
อาการของ โรคลำไส้แปรปรวน ที่สำคัญ คือ จะมีอาการปวด อืดหรือไม่สุขสบายในช่องท้อง โดยอาการปวดหรือไม่สุขสบายดังกล่าว จะเกิดขึ้นสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของความถี่ หรือลักษณะของอุจจาระ หรืออาการปวดและไม่สบายท้องนั้นดีขึ้นหลังการขับถ่ายอุจจาระ
โรคนี้อาจเกิดกับบางคนที่ไวต่ออาหารบางชนิด เช่น น้ำส้มสายชู กาแฟ ของเผ็ด มัน หรือผลไม้บางชนิด ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย เมื่ออาหารดังกล่าวตกถึงกระเพาะก็จะกระตุ้นให้เกิดกระแสประสาทวิ่งตรงไปลำไส้ใหญ่ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องถ่ายท้องทันที โดยทั่วไป หากอาการไม่รุนแรง อาจไม่ต้องกังวลนัก เพราะไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอะไร อาจมีความเสี่ยงบ้าง หากไปรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ก็ไม่ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่อย่างใด อาจมีอาการเพียง ถ่าย 2-3 ครั้งก็จะหายไปเอง บางคนอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย หรือปวดท้อง ท้องอืดบ่อยก็สามารถบรรเทาด้วยการกินผักผลไม้ที่ไม่แพ้ให้มาก ๆ
โรคลำไส้แปรปรวน มีวิธีดูแลรักษาตนอย่างไร?
1. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มันจัด เช่น หนังเป็ด หนังไก่ นม ครีม เนย น้ำนม ในปริมาณมาก
3. ควรรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลในปริมาณที่พอเหมาะ และผสมผสานหลายๆ หมู่อาหาร
4. เลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณมากๆ จะช่วยลดอาการของโรค
5. เลือกทานอาหารที่มีกากหรือเส้นใย (fiber) จะช่วยให้ลำไส้บีบตัวได้ดี นอกจากนี้กากหรือเส้นใยยังช่วยดูดน้ำไว้ในอุจจาระ ทำให้อุจจาระไม่แข็งและถ่ายได้ง่ายขึ้น แต่ควรกินทีละน้อยแต่กินให้บ่อยขึ้น ไม่ควรกินจนอิ่มมาก เพราะจะกระตุ้นให้มีอาการปวดท้องและท้องเสียได้ง่าย
6. ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด กาแฟ ของดอง น้ำอัดลมและยาบางชนิด ซึ่งจะทำให้มีอาการมากขึ้น
7. ภาวะเครียดก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการเกร็งตัวของลำไส้เพิ่มขึ้น จึงควรผ่อนคลายทำจิตใจให้สบาย พักผ่อนทั้งร่างกายให้เพียงพอ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้อีกส่วนหนึ่ง
ในทางการแพทย์ มีการให้การรักษาโดยการใช้ยาที่ช่วยปรับการทำงานของทางเดินอาหารให้ดีขึ้น ซึ่งมักจะทำหากการปฏิบัติตัวดังกล่าวข้างต้นไม่เป็นผลสำเร็จ การรักษาที่ดีจะช่วยทำให้โรคสงบได้ แต่ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ หากมีปัจจัยกระตุ้น ดังนั้นเมื่อเกิดอาการโรคลำไส้แปรปรวน ให้หมั่นสังเกตว่าอาการที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับชนิดของอาหารหรือไม่ หากมีความสัมพันธ์กัน แนะนำให้ลดหรือละอาหารดังกล่าว และรับประทานอาหารให้ตรงเวลา แต่หากไม่ดีขึ้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาการของลำไส้แปรปรวนอาจเป็นอาการเบื้องต้นที่พบได้ในโรคร้ายแรงหลายโรค เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง มะเร็งทางเดินอาหาร ซึ่งแพทย์จะพิจารณาสืบค้นเพิ่มเติม ตามข้อบ่งชี้ต่อไป
อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล