ประสบการณ์จริงของ “ไบโพลาร์” โรคของคนอารมณ์สองขั้ว

ประสบการณ์จริงของ “ไบโพลาร์” โรคของคนอารมณ์สองขั้ว

ประสบการณ์จริงของ “ไบโพลาร์” โรคของคนอารมณ์สองขั้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณหกเหินเป็นอะไรถึงได้สร้างแต่ความปั่นป่วนและความเครียดให้ทุกคนในครอบครัว

คุณหกเหินเข้าโรงพยาบาลเพราะมีสภาพเหมือนคนไร้วิญญาณ วันๆ เอาแต่นั่งเหม่อลอย พร่ำพูด ถึงความทุกข์สารพัดในอดีต พี่น้องคุณหกเหินบอกว่า คุณหกเหินกินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนซูบซีดมาเป็นเดือนแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยร่าเริง คุยไม่หยุด นั่งไม่ติดที่ อยากทำนั่นทำนี่ตลอดเวลา ใช้เงินเป็นเบี้ยจนเป็นหนี้บัตรเครดิตเหยียบเลข 7 หลัก พี่น้องเอือมระอา เนื่องจากคุณหกเหินไม่ฟังคำทัดทานจากใคร และแถมยังอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ ญาติพี่น้องเพิ่งเข้าใจพฤติกรรมของคุณหกเหินดีขึ้น เมื่อคุณหมอบอกว่าคุณหกเหินป่วยเป็นโรคไบโพลาร์

 

ไบโพลาร์ แปลว่า “สองขั้ว” ขั้วทั้งสอง คือ อารมณ์ โรคไบโพลาร์จึงมีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า “โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว” คนปกติทั่วไปมีลักษณะอารมณ์แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ อารมณ์ฝ่ายสุขและอารมณ์ฝ่ายทุกข์ ปัจจุบันเราทราบว่าในสมองมีกลไกที่คอยควบคุมการแสดงออกของอารมณ์โดยอาศัยการทำงานของสารเคมีในสมองที่เราเรียกว่า สารสื่อประสาท เมื่อใดที่สารสื่อประสาทเหล่านี้ทำงานไม่ปกติ การแสดงออกของอารมณ์ก็จะหลุดออกนอกกรอบ กลายเป็นอารมณ์แปรปรวนได้ 2 แบบ คือ เป็นแบบทุกข์มากจนซึมเศร้า หรือสุขมากจนกลายเป็นความคึกคักที่ควบคุมไม่ได้

ญาติๆ ค่อยๆ ลำดับเหตุการณ์ได้ว่าตอนแรกคุณหกเหินมีอาการคึกคักก่อน คือ มีอารมณ์ครื้นเครง พูดมาก พูดเร็วจนฟังไม่ทัน และส่วนมากจะเปลี่ยนเรื่องเร็วด้วย ชอบอวดว่าตนเก่งกว่าคนอื่น จึงฉุนเฉียวและโกรธมากเวลาถูกห้ามปราม ใช้เงินอย่างขาดสติ ทั้งซื้อของและเสี่ยงโชค คุณหกเหินเป็นแบบนี้อยู่ระยะหนึ่ง ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นพูดน้อย หดหู่ ซึมเศร้า ท้อแท้ และหมดหวังกับชีวิต บ่นว่าสมองไม่สั่งงาน ไม่อยากทำอะไร หมกมุ่นแต่เรื่องทุกข์ในอดีตและอนาคต รู้สึกผิดกับทุกเรื่องที่เคยทำมา พี่น้องจำได้ว่าคุณหกเหินเคยเป็นแบบนี้ เมื่อหลายปีก่อน แต่ไม่รุนแรงนัก จึงไม่มีคนสนใจ ในที่สุดคุณหกเหินก็หายเป็นปกติไปเอง

คุณหมอได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยบางคน เวลาดึกอาจมีอาการหลงผิด คิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ หรือบุคคลสำคัญ ความหุนหันพลันแล่นทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงอื่นๆ ตามมา เช่น ถูกทำร้าย เป็นหนี้สิน หรือติดยาเสพติด ส่วนผู้ป่วยที่เศร้ามากๆ ก็อาจคิดว่าตนเองเคยทำผิดต่างๆ ที่ให้อภัยไม่ได้ สมควรต้องรับโทษให้สาสม ระแวงและคิดอยากตาย

โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจมีอาการแบบใดแบบหนึ่งก่อนแล้วเปลี่ยนเป็นอีกแบบหนึ่ง โดยอาจมีระยะเวลาที่มีอารมณ์ปกติมาคั่นกลาง ระยะที่มีอาการจะต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ใช่ชั่วโมงนี้เป็นแบบหนึ่ง ชั่วโมงหน้าเป็นอีกแบบหนึ่ง บางคนก็อาจมีอาการแบบเดียวซ้ำๆ หลายครั้งก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นอีกแบบหนึ่ง หรืออาจมีทั้งสองแบบปนๆ กันในคราวเดียวกันได้

 

ญาติสงสัยว่าทำไมคุณหกเหินจึงป่วยโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน

คุณหมอบอกว่าสาเหตุทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาท ทำให้สารสื่อประสาทอาจทำงานผิดพลาดจนส่งผลให้เกิดอาการป่วยโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม ในบางกรณีการมีวิกฤตใหญ่ๆ ในชีวิตที่ทำให้เกิดอาการเครียดมากๆ ซ้ำๆ ก็อาจทำให้เกิดผลสะสมจนสารสื่อประสาททำงานผิดพลาดได้เช่นกัน มีหลายกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติพยายามโยงอาการป่วยกับเหตุการณ์บางอย่าง และพยายามเข้าไปแก้ไขเหตุการณ์นั้นๆ โดยไม่ได้สนใจที่ตัวโรคเอง

 

จะรักษาคุณหกเหินให้หายได้หรือไม่

โชคดีที่ปัจจุบันทางการแพทย์รู้สาเหตุทางชีววิทยาของโรคนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธีก็จะหายเป็นปกติได้ การใช้ยาที่ทำหน้าที่ปรับสภาพสารสื่อประสาทซึ่งมีอยู่มากมายหลายขนาน และได้รับการยอมรับว่าประสิทธิภาพสูง จึงเป็นวิธีรักษาที่สำคัญควบคู่ไปกับการบำบัดทางจิตวิทยาเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงสาเหตุและขบวนการบำบัดรักษา สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมหลังจากทุเลาจากอาการป่วยแล้ว

 

แล้วคุณหกเหินจะหายขาดได้หรือไม่

การเกิดโรคซ้ำในไบโพลาร์เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พบบ่อย ผู้ที่เคยป่วยซ้ำมีโอกาสที่จะป่วยอีกสูงกว่าผู้ที่เพิ่งป่วยเพียงครั้งเดียว ดังนั้นการมีวินัยในการรับประทานยา หมั่นติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด จึงมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคซ้ำได้ นอกจากนั้นผู้ใกล้ชิดที่เข้าใจ คอยให้กำลังใจและสังเกตุอาการที่เปลี่ยนแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาและป้องกันโรคไบโพลาร์ได้

 

ท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์หรือสงสัยว่าคนใกล้ตัวมีอารมณ์แปรปรวนสองขั้วสามารถเข้าฟังการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ไบโพลาร์ โรคของคนอารมณ์สองขั้ว” ได้ ในวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560 เวลา 09.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 โรงพยาบาลมนารมย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02-725-9595

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook